ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การสนับสนุนทางจังหวัดกระบี่ ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบมั่นใจ สะอาด และปลอดภัย ในพื้นที่ พร้อมช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมที่พักในจังหวัดให้ได้รับมอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว (SHA) ซึ่งภาพรวมธุรกิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังสถานการณ์คลายล็อกดาวน์ และมาตรการภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวในช่วงนี้ กับการรับรองมาตรฐาน SHA ให้แก่สถานที่ประกอบการท่องเที่ยว
ซึ่งเน้นในเรื่องคุณภาพความสะอาดตามหลักสากล ดังเช่น ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม อ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สวทช. ในการพัฒนานวัตกรรมด้าน Green Hotel ที่เป็นเทคโนโลยีสะอาดและประหยัดพลังงาน ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้รีสอร์ทได้รับมาตรฐาน SHA ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ โรงแรม/ที่พัก (Resort) สุขภาพและความงาม (Spa) และบริษัทนำเที่ยว (Travel & Tour) ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก มั่นใจ และปลอดภัย ตะลุยเมืองกระบี่อย่างสบายใจ
นางกุสุมา กิ่งเล็ก กรรมการผู้จัดการ อ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา กล่าวว่า ช่วง COVID-19 ถือเป็นโอกาสที่ดีของทางรีสอร์ทเนื่องจากทางผู้บริหารและพนักงาน วางแผนมาโดยตลอดเรื่องการเตรียมการหลังจากจบสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จนเป็นที่มาในเรื่องการปรับการบริการรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้น ก่อนเกิดคำว่า New Normal โดยการวางแผนในส่วนต่าง ๆ เช่น service check in การจองอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย โดยก่อนลูกค้า check in ทางรีสอร์ทจะต้องส่งแบบฟอร์มที่เป็น pre check in ให้ลูกค้า เพื่อกรอกรายละเอียด 14 วันล่วงหน้าก่อนเดินทางมาถึง เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ในส่วนของรูปแบบโรงแรม หากกลุ่มลูกค้ามาจากกลุ่มเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือประเทศที่เป็นกลุ่มเสี่ยง จะมีการแยกโซนตึกห้องพัก เพื่อให้สามารถจัดการในกรณีที่เกิดปัญหาได้ว่า ลูกค้ากลุ่มนี้เป็นใครและพักกับลูกค้าท่านใดบ้าง ซึ่งเมื่อเราวางแผนการให้บริการไว้ก่อน พอเกิดมาตรฐาน SHA ออกมา จึงเป็นข้อดีสำหรับรีสอร์ทในการปรับใช้ ทำให้เป็นรีสอร์ทแห่งแรกที่ได้มาตรฐาน SHA และเป็นสปาที่แรกในจังหวัดกระบี่ที่ได้มาตรฐาน SHA
มาตรฐาน SHA หัวใจสำคัญคือ การรักษาความสะอาดและการเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสผิวสัมผัสต่าง ๆ ซึ่งทางรีสอร์ทมีการจัดบริเวณทางเข้าให้มีการวัดอุณหภูมิลูกค้าก่อนที่จะเข้า check in ซึ่งรูปแบบที่วางแผนไว้จะมีความคล้ายกับมาตรฐาน SHA อยู่แล้ว คือมีการตรวจอุณหภูมิ มีการเหยียบพื้นเพื่อให้รองเท้าติดแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณล็อบบี้จะมีการเว้นระยะห่าง 1 เมตร ไม่ว่าจะเป็นจุด check in หรือจุดต่าง ๆ หลังจากลูกค้าเข้ามา check in เพื่อให้ใช้เวลาอยู่ในจุดส่วนรวมน้อยที่สุด เนื่องจากทางรีสอร์ทได้ข้อมูลลูกค้ามาก่อนหน้าแล้ว ดังนั้นเมื่อลูกค้ามาถึง แค่ยืนยันตัวตนจากนั้นจะสามารถส่งลูกค้าเข้าที่พักได้ทันที ในส่วนของการส่งลูกค้าเข้าที่พักจะมีพนักงานที่ต้องสวมใส่ face shield หน้ากากอนามัย และสวมถุงมือในส่วนที่สัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งที่นำมาปรับมาใช้ คือ ขั้นตอนการชำระเงิน ทางรีสอร์ทใช้เป็น QR code หรือ Banking ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด สำหรับลูกค้าบางกลุ่มที่ยังชำระด้วยเงินสด ทางรีสอร์ทจะเตรียมถาดรองเพื่อไม่ให้เกิดการสัมผัสแบบมือต่อมือ
ภายหลังได้รับมาตรฐาน SHA พบว่า ผลตอบรับทางการตลาดดีมาก ด้วยเหตุผลว่าทางรีสอร์ทของเราพร้อมก่อนและเป็นที่แรก ทำให้เกิดแบบอย่างหรือเป็นต้นแบบให้หลาย ๆ ที่ ซึ่งรีสอร์ทเองมีความยินดีที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการหรือโรงแรมอื่น ๆ เข้ามาศึกษาดูงานตั้งแต่ต้นเพื่อให้กลับไปใช้งานได้จริง ในส่วนของการตรวจสอบสำหรับที่รีสอร์ทถือว่ามีพอสมควร เนื่องจากเป็นโรงแรมแรก ทุกหน่วยงานจะมีการเข้ามาตรวจสอบว่า New Normal จริง ๆ คืออะไร ทำกันแบบไหน ทั้งผู้ใหญ่ในจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือฝั่งสาธารณสุขเองมีเข้ามาจำนวนมากเช่นกัน “สวทช. เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งข้อดีของการรวมกันระหว่างการท่องเที่ยวและวิทยาศาสตร์มีแน่นอน เพราะว่าการบริการแบบ New Normal จะต้องมีอุปกรณ์หรือสิ่งใหม่ที่จะต้องนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์ เช่น นวัตกรรมใหม่ที่เป็นตัวพื้นเหยียบ (Step Safety) เพราะคือเรื่องใหม่ของทุกคน ส่วนในเรื่องอื่น ๆ เช่น นวัตกรรมความร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานที่ได้รับจากการจับคู่นวัตกรรมจาก สวทช. นับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้รีสอร์ทได้รับมาตรฐาน SHA เพราะว่ามาตรฐาน SHA จะเป็นเรื่องของการปรับทิศทางเครื่องปรับอากาศหรือการปรับความร้อนของจุดต่าง ๆ เพื่อการหมุนเวียน ในกรณีสมมติว่ามีเชื้ออยู่ในห้อง เชื้อจะสามารถเข้าและออกเพื่อผ่านไปยังพื้นที่โล่งได้ ซึ่งข้อกำหนดของ SHA จะสอดคล้องพอสมควรกับการใช้นวัตกรรมหรือการใช้สิ่งที่มีอยู่เพียงแค่ต้องปรับใช้หรือเพิ่มเติมบางอย่างเพื่อความเข้มข้นของการดูแลในเรื่องความปลอดภัย” นางกุสุมา กิ่งเล็ก กล่าว
ด้าน นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวเสริมว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. ให้การสนับสนุนอ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.กระบี่ ในการจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว หรือ SHA โดยที่ผ่านมา สวทช. มีการให้คำแนะนำ ปรึกษา และเชื่อมโยงพันธมิตรร่วมกันกับผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะส่วนที่สำคัญคือ การจับคู่นวัตกรรม (Innovation Matching) ระหว่างเจ้าของนวัตกรรม กับ ผู้ใช้งานจริง คือทางรีสอร์ทเอง ด้วยการนำนวัตกรรมประหยัดพลังงานในระบบทำน้ำร้อนและระบบปรับอากาศ ไปใช้งานจริงในโรงแรม ทำให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้งานจริง พร้อมยังส่งเสริมให้โรงแรมประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย เป็นการส่งเสริมทั้งในอุตสาหกรรมด้านพลังงานและการท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน
ทั้งนี้ โครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA เป็นการนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นใจ ปลอดภัยและสะอาดแก่นักท่องเที่ยว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.