สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับสนับสนุนงบประมาณดำเนิน “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab: FABLAB)” เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยการส่งเสริมให้มีพื้นที่เรียนรู้ในสถานศึกษาทั่วประเทศ ในการเข้าเยี่ยมชมผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จังหวัดลพบุรี นำโดย ดร.อ้อมใจไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และคณะ เพื่อให้เห็นถึงความเป็นนวัตกรของนักเรียนภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab: FABLAB) ซึ่งมีด้วยกัน 4 ผลงาน
ได้แก่ เครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ เครื่องดูแลต้นบอนไซ การใช้งานเครื่องมือใน FABLAB สร้างชิ้นงาน เช่นการออกแบบชั้นใส่เอกสารในสำนักงาน หรือการสร้างอุปกรณ์ช่วยเหลือทางการแพทย์ และ การใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ใน FABLAB เพื่อสร้างสื่อจำลองการทำงานของเครื่องจักรอัตโนมัติ โดยมีผู้อำนวยวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ครูผู้ดูแลห้องปฏิบัติการ FABLAB ครูพี่เลี้ยงจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี รวมถึงตัวแทนนักเรียนนำเสนอผลงานในครั้งนี้
ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ ‘FABLAB’ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ภายใต้โครงการ Big Rock ที่เป็นเรื่องของการพัฒนาคน ซึ่ง สวทช. ได้รับหน้าที่ดำเนินการโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย โดยส่งเสริมให้มีการจัดพื้นที่การเรียนรู้ FABLAB กระจายอยู่ใน 68 จังหวัด 150 สถานศึกษา ทั้งโรงเรียนที่มีการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา 100 แห่ง และ วิทยาลัยเทคนิคอีก 50 แห่ง ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี เป็นหนึ่งในสถานศึกษาที่ได้รับเลือก เพื่อพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม เกิดแรงบันดาลใจ และสนใจในความเป็นนวัตกรต่อไปในอนาคต ในส่วนของการสนับสนุนเครื่องมือใน FABLAB เพื่อสร้างทักษะเชิงวิศวกรรม ได้มีการสนับสนุน เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อการเรียนรู้ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิตอล ซึ่งเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านี้ ล้วนมีความสามารถและมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ยากเลยในการใช้งาน สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการประดิษฐ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ออกมา โดยในวันนี้ก็ได้เห็นจากผลงานที่มานำเสนอแล้วว่า นักเรียนภายใต้โครงการ FABLAB มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นนวัตกร และสามารถนำทักษะที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นจุดที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าต่อไปได้มากในอนาคต
สำหรับการสนับสนุนเครื่องมือต่าง ๆ ใน FabLab นั้น ทักษะเชิงวิศวกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากเยาวชนไม่ได้หยิบจับใช้งาน ฝึกปฏิบัติการกับเครื่องมือต่าง ๆ ใน FabLab อาทิ เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อการเรียนรู้ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องมือวัดค่าต่าง ๆ ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งตรงนี้โครงการฯ ต้องขอขอบคุณ STEM Lab ซึ่งเป็น Lab ต้นแบบ โดยเฉพาะเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ แต่สำหรับกลุ่มสถานศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนั้น ด้วยการเรียนการสอนเชิงทักษะช่าง ซึ่งเยาวชนในสถานศึกษาเหล่านี้ ล้วนมีความสามารถและมีศักยภาพในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ยากนักในการใช้งาน สิ่งที่ท้าทายต่อไปคือการประดิษฐ์ สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ออกมา ตรงนี้ FabLab เราอยากเห็นและให้ความสำคัญเป็นลำดับต่อไป และจากสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าทั่วโลก รวมถึงประเทศของเรา ต่างต้องเจอความยากลำบากอย่างมาก นักรบแนวหน้าของเราคือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องทำงานต่อสู้อย่างหนัก ในวิกฤตินี้มีหลายหน่วยงานได้ช่วยผลิตและจัดทำเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลต่าง ๆ ใช้ในการป้องกันเบื้องต้น และใช้ปฏิบัติงานในการตรวจคัดกรองและรักษาผู้ป่วยเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทาง บริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ร่วมเป็นผู้สนับสนุนในกิจกรรมการประกวด FabLab2020 ทราบถึงเรื่องนี้ จึงได้มอบเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้กับ FabLab สถานศึกษาในโครงการฯ และ FabLab บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. รวมจำนวน 20 เครื่อง พร้อมวัสดุการพิมพ์ หนึ่งในนั้นเป็นที่ FabLab วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ที่นี่ด้วย
นายเรวัช ศรีแสงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคลพบุรีเป็นวิทยาลัยที่จัดการศึกษาด้านอาชีวะมาตั้งแต่ปี 2481 ตอนนั้นเป็นโรงเรียนช่างไม้ แล้วจึงพัฒนาเมื่อปี 2500 โดยทางกระทรวงศึกษาธิการอยากให้จัดการทางด้านสายอาชีวะซึ่งในตอนนั้นใช้ชื่อว่า ช่างกลลพบุรี ในปี 2510 ได้รวม 3 สถานศึกษา ได้แก่ ช่างกลลพบุรี ช่างไม้ ช่างสตรี มาเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาลพบุรี และเปลี่ยนเป็นวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี ในปี 2522 จัดการเรียนการสอน 3 ระดับ คือ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี โดยเราจะเน้นช่างเทคนิคเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนปริญญาตรีนั้นเพื่อต่อยอดให้นักศึกษาที่อยู่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนต่อ เพื่อให้ได้ใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน สิ่งที่ทาง สวทช. และ มทร.ธัญบุรี ได้ให้อุปกรณ์และให้คำปรึกษาทางวิทยาลัยเทคนิคลพบุรีก็ได้นำมาใช้เต็มศักยภาพ ซึ่งได้ใช้ตลอดปีเพราะเด็กอาชีวะจะมีโอกาสได้ทำโครงงานก่อนศึกษาจบไม่ว่าจะเป็น ปวช. 3 หรือ ปวส. 2 เด็กจะต้องมีผลงาน 1 ชิ้น ก่อนศึกษาจบ ส่วนใหญ่จะได้ใช้อุปกรณ์ใช้ห้องให้เกิดประโยชน์ ในส่วนที่ทางวิทยาลัยได้ช่วยประชาชนและจังหวัด ก็ได้มีทางสาธารณสุขได้มาขอให้ช่วยทำตู้ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 โดยใน 11 อำเภอ ทางวิทยาลัยก็ได้ให้การช่วยเหลือ โดยทางจังหวัดก็ให้ความชื่นชมว่าทางวิทยาลัยมีเครื่องมือที่สามารถตอบสนองงานในภาวะจำเป็นได้อย่างดี ที่สำคัญทีสุดทางวิทยาลัยเชื่อว่านักศึกษาจำนวน 7,000 กว่าคนได้มีโอกาสในการใช้ห้อง lab และเครื่องมือในการผลิตชิ้นงานได้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้วิทยาลัยได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทาง สวทช. ได้จัดให้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เป็นพี่เลี้ยงให้อย่างดี
เนื่องจากความรู้และเทคโนโลยีมาจากหน่วยงานคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ค่อนข้างเยอะพอสมควร ทำให้นักศึกษามีความตื่นตัวที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ เข้ามา อย่างที่ ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ กล่าวว่าเครื่องมือของอาชีวศึกษานั้นมีจริง แต่ก็มีมานานหลายปีแล้ว บางชนิดใช้งานมากว่า 30-40 ปีและยังคงมีการใช้งานอยู่ ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ที่ให้มามูลค่าล้านกว่าบาท ซึ่งทางวิทยาลัยได้ใช้ประโยชน์จริง เต็มมูลค่าและเชื่อว่าต่อ ๆ ไป ในวันข้างหน้าก็จะยังคงใช้อยู่ วิทยาลัยเคยได้รับงบประมาณจากกระทรวง แต่บางครั้งพอนำสู่การปฏิบัติมันไม่ตรงกับสิ่งที่วิทยาลัยได้ แต่สิ่งที่ทางโครงการ Fablab จัดให้นั้นได้นำมาใช้ในรุ่นปัจจุบัน และไม่น่าเชื่อว่า สถานการณ์ COVID-19 วิทยาลัยก็ได้ใช้เครื่องมือนี้มาทำให้ปัญหาต่าง ๆ เบาบางลงจากเครื่องมือที่ทาง สวทช. และทาง มทร.ธัญบุรี ได้ช่วยกันทำให้มีในภูมิภาค ผมคิดว่าสังคมเราดีขึ้นส่วนหนึ่งได้มาจากโครงการ Fablab นี้
ด้าน อาจารย์จำเนียร บัวแดง ครูผู้ดูแลห้องปฏิบัติการ FABLAB วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี กล่าวว่า ห้อง FABLAB ของวิทยาลัย จะมีครูดูแลคล้ายห้องสมุดกลาง ที่จะคอยให้คำแนะนำแก่นักเรียนนักศึกษาที่ต้องการมาใช้งานเครื่องมือและอุปกรณ์ในห้อง โดยเน้นความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือเป็นอันดับแรก ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงในโครงการ FABLAB มีเรื่องของการใช้งานเครื่องมือ อุปกรณ์ที่อยู่ในห้อง FABLAB มีการอบรมการออกแบบ สร้างฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ระบบนวัตรกรรมต่าง ๆ
เพื่อนำมาถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนของวิทยาลัย ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากและนักเรียนนักศึกษาก็ได้นำความรู้ดังกล่าวมาสร้างสรรค์ผลงานซึ่งได้รับรางวัลและชื่อเสียง เช่น เครื่องดูแลต้นบอนไซอัตโนมัติ และเครื่องจ่ายยาอัตโนมัติ ทั้งสองผลงานก็ได้รับรางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม เช่น ช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 วิทยาลัยได้ทำจิตอาสา จัดทำอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือทางแพทย์ให้กับ โรงพยาบาลพระนารายณ์ โรงพยาบาลบ้านหมี่ รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง มีการทำตู้และกล่องป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อCOVID-19 พร้อมส่งมอบเป็นจำนวน 44 ชิ้น อุปกรณ์ face shield จำนวนประมาณ 2,000 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาใช้อุปกรณ์และเครื่องมือของห้อง FABLAB ทั้งหมด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.