สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสังเกตการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืน 14 กรกฎาคม 2563 ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา ในรูปแบบ New Normal เผยเชียงใหม่ฟ้าใสเห็นดาวพฤหัสบดีส่องสว่างตั้งแต่หัวค่ำ พร้อมวัตถุท้องฟ้าอีกหลายชนิด หากพลาดครั้งนี้ เตรียมพร้อมรอชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี 21 กรกฎาคม 2563
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า กิจกรรมสังเกตการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปีในครั้งนี้ เราจัดในรูปแบบ New Normal พร้อมมาตรการเฝ้าระวังทางด้านสุขอนามัย ทั้ง 4 แห่ง บรรยากาศการจัดกิจกรรม ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นไปอย่างคึกคัก มีประชาชนทยอยมารอชมดาวพฤหัสบดีตั้งแต่ช่วงเย็น จนกระทั่ง เวลาประมาณ 19:30 น. ดาวพฤหัสบดีปรากฏให้เห็นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าร่วมงาน พากันชมดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก สามารถมองเห็นแถบเมฆและดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตดาวเสาร์ สามเหลี่ยมฤดูร้อน และกลุ่มดาวต่าง ๆ อาทิ กลุ่มดาวแมงป่อง กลุ่มดาวคนยิงธนู กลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นต้น เรียกได้ว่าทัศนวิสัยท้องฟ้าดีมาก นอกเหนือจากกิจกรรมสังเกตการณ์ ยังเปิดให้เข้าชมนิทรรศการดาราศาสตร์และท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษ สอนดูดาวเบื้องต้นกับท้องฟ้าจริง เล่านิทานดาว และเล่นเกมแจกของรางวัลดาราศาสตร์สุดพิเศษ นอกจากนี้ ยังจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ในครั้งนี้ผ่านโซเชียลมีเดียทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติอีกด้วย
ด้านหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ดาวพฤหัสบดีเริ่มปรากฏให้เห็นเวลาประมาณ 19:30 น. จนถึง 20:30 น. ก่อนฟ้าปิดและไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เริ่มสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดี รวมทั้งดาวเสาร์ เวลาประมาณ 20:30 น. เป็นต้นไปจนจบกิจกรรม ส่วนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สภาพอากาศไม่เป็นใจ ไม่สามารถสังเกตดาวพฤหัสบดีและวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ได้
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสัปดาห์หน้าจะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจให้ชมอีกหนึ่งปรากฏการณ์ คือ ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ 4 จุดหลักเช่นกัน ติดตามข้อมูลปรากฏการณ์และรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/NARITPage
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.