สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เก็บภาพ “ดาวหางนีโอไวส์” คืนใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลกประมาณ 103 ล้านกิโลเมตร ปรากฏสว่างบนท้องฟ้าพร้อมหางฝุ่นยาวกว่าสิบองศา เห็นด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
สำหรับภาพ “ดาวหางนีโอไวส์” ที่บันทึกได้ในครั้งนี้ บันทึกเมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏชัดทั้งหางฝุ่นและหางแก๊ส ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุด นับเป็นโอกาสดีที่ในคืนดังกล่าวท้องฟ้าบริเวณนี้ใสเคลียร์ เหมาะแก่การบันทึกภาพดาวหางไว้เป็นความทรงจำอย่างยิ่ง หลังจากวันนี้ ดาวหางดวงนี้จะมีความสว่างลดลง เนื่องจากโคจรออกห่างดวงอาทิตย์และโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับมีแสงจันทร์รบกวน จึงสังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก
ด้านอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีประชาชนให้ความสนใจติดตามรอชม “ดาวหางนีโอไวส์” ในคืนนี้กันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสภาพท้องฟ้าค่อนข้างโปร่ง ทัศนวิสัยท้องฟ้าดีกว่าหลายวันที่ผ่านมา สดร. จึงตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อให้ประชาชนมาชมดาวหางร่วมกัน เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลา 19.30 น. แม้ว่าจะมีเมฆบดบังเป็นบางครั้ง ประชาชนก็ยังพากันนั่งรอชม จนกระทั่งเวลา 20.30 น. มีเมฆปกคลุมทั่วท้องฟ้า และฝนตก จึงไม่สามารถสังเกตการณ์ดาวหางนีโอไวส์ต่อไปได้
ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) เป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร
แม้ดาวหางนีโอไวส์ จะกลับมาเยือนโลกอีกครั้งในอีก 6,767 ปี แต่ก็ยังคงมีดาวหางอีกหลายดวงที่จะแวะเวียนเข้ามาใกล้โลกอีกเรื่อย ๆ จะสว่างเห็นด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางดวงนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.