สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยความคืบหน้าการดำเนินงานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง ระบุมีประสิทธิภาพตอบโจทย์เกษตรกรทั่วทั้งประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงเพื่อขอรับรองมาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออก ครบวงจร พร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า ตามที่ วว.ได้ประชาสัมพันธ์การเปิด ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขนาดกำลังการผลิต 3 ตันต่อชั่วโมง เมี่อปี 2561 ผลงานบูรณาการความร่วมมือระหว่าง วว. และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มุ่งนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปแก้ไขปัญหา “สับปะรด” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของไทย ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เนื่องจากเป็นพืชผลทางการเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสับปะรดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แม้ว่าสับปะรดจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นพืชที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้อย่างชัดเจน แต่ที่ผ่านก็ยังประสบปัญหาราคาตกต่ำและผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดส่วนใหญ่ยังขาดแคลนเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยว ที่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาสับปะรดผลสดให้ได้นานเพียงพอและได้คุณภาพ มีปัญหาสิ่งปนเปื้อนโรคแมลงและแสดงอาการไส้ดำในกลุ่มสมูทเคยีน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการนำสับปะรดผลสดส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทำให้สูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายสับปะรดผลสด ซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากกว่าสับปะรดแปรรูป
ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาสับปะรดของ วว. จะใช้เทคโนโลยีชีวภาพปรับปรุงสายพันธุ์ จัดสร้างโรงคัดบรรจุมาตรฐานพร้อมเครื่องจักรสายการผลิตบรรจุสับปะรดผลสดที่ทันสมัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรด พัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการใช้ วทน. แก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรเพื่อการส่งออก ยกระดับคุณภาพเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ปัจจุบัน วว. อยู่ในระหว่างดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP เพื่อการส่งออกสับปะรดผลสด ทั้งนี้กำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป
รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน วว. ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการให้บริการภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อย่างครบวงจร ตั้งแต่เครื่องคัดขนาด เครื่องตัดแต่ง เครื่องคัดผลดีผลเสีย อุโมงค์ลมทำความสะอาด เครื่องเคลือบแว็กซ์ สายพานลำเลียง การบรรจุภัณฑ์ เครื่องรัดกล่อง เครื่องลดอุณหภูมิแบบ Froced Air Cooling และห้องเย็น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาอาการไส้ดำในสับปะรด ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา ลดการสูญเสียน้ำหนัก คงคุณภาพผลผลิต มีภาพลักษณ์ที่สวยงามและช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น
นอกจากความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าว ภายในศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังมีพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ สำหรับอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ลูกค้า โดยปัจจุบันได้จัดเตรียมสถานที่ไว้รองรับผลผลิตจากเกษตรกรที่ขนส่งมายังโรงงานไว้ด้านหน้า ซึ่งในอนาคตจะมีการปรับปรุงเป็นห้องเย็นสำหรับเก็บรักษาผลผลิตก่อนนำมาคัดบรรจุ และเมื่อผลผลิตผ่านกระบวนการต่างๆ รวมทั้งเข้าสู่ห้องเย็นที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Froced Air Cooling แล้ว ก็จะลำเลียงไปยังพื้นที่ด้านข้างโรงงานเพื่อขึ้นตู้คอนเทนเนอร์
ในขณะเดียวกัน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังให้บริการด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้หลังการเก็บเกี่ยวสับปะรดแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ดังนี้ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เพื่อรักษาคุณภาพของสับประรดผลสดเพื่อการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เทคโนโลยีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากสับปะรด
“...ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งสอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของลูกค้า ซึ่งวิธีการในการให้บริการจะเน้นการให้คำปรึกษา การฝึกอบรม ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะมีการคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดผลสด ที่มีความพร้อมในการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แล้วจึงจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ตลอดจนการเป็นเสมือนศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวสับปะรด เทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่เปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาศึกษาดูงาน
วว. คาดว่าการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพสับปะรดเพื่อการส่งออกอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในพื้นที่ และก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่มเป้าหมายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดผลสด ผู้ประกอบกิจการส่งออกผลไม้สด วิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์…” นายสายันต์ ตันพานิช กล่าว
ทั้งนี้ วว. มุ่งหวังให้ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในหลายมิติ ตั้งแต่การเป็นเครือข่ายด้านการวิจัยพัฒนา และมีบทบาทเสมือนเป็นผู้ประกอบการโรงงานคัดบรรจุ/แปรรูป/บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นการดำเนินตามแผนธุรกิจ วว. โดยเป็นผู้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ทั้งความต้องการบริโภคสับปะรดสดที่เพิ่มขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานที่สามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางธุรกิจ
นายสายันต์ ตันพานิช กล่าวถึงภารกิจของศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสับปะรดว่า จะเป็นทั้งที่ปรึกษาให้แก่เกษตรกรในระดับต้นน้ำ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขั้นปลายน้ำเกี่ยวกับมาตรฐานของผลผลิตที่จะรับซื้อจากเกษตรกร การเป็นเสมือนตัวกลางในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับการวิจัยพัฒนาและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกสับปะรด โดยผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว คือ การทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีความสามารถในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและมีรายได้เพิ่มขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีโรงคัดบรรจุสับปะรด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ที่ (นายสัมพันธ์ ศรีสุริยวงษ์) โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : samphan@tistr.or.th / tistr@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.