(14 มิ.ย. 62) ที่ CDC กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019” เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่นโยบาย 4.0 ได้อย่างมั่นคง ภายใต้หัวข้อ ‘The Adventure in Logistics’ เพื่อค้นหาเหล่าสตาร์ทอัพ นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ร่วมประกวดผลงานในการสร้างสรรค์ไอเดียแปลกใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1,000,000 บาท สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ก.ค. 62 นำแถลงโดย คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด และคุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. พร้อมรับฟังประสบการณ์ผู้ชนะเลิศประเภทนิติบุคลและบุคคลทั่วไปจากปีก่อน โดย คุณปิโยรส ปิยจันทร์ บริษัท อินเท็นติก จำกัด (2017 Winner) และคุณอานันท์ ประเสริฐรุ่งเรือง บริษัท แอร์พอเทลล์ จำกัด (2018 Winner)
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่งมากว่า 50 ปี กล่าวว่า “ธุรกิจของบริษัทฯ ตอบสนองภาคการขนส่งในประเทศเกือบ 100% นับเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนความสำเร็จของเกือบทุกอุตสาหกรรม หัวใจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ เป็นผู้นำในธุรกิจขนส่งอย่างแข็งแรงจนถึงทุกวันนี้ คือ การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องที่สามารถตอบสนองความต้องการและการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมภาคการขนส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศให้แข็งแกร่ง และเติบโตยิ่งขึ้น บริษัทฯ จึงเดินหน้าสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการขนส่ง รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เป็นสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ หรือ LogTech ผ่านโครงการ Panus Thailand LogTech Award ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อตอกย้ำความเป็นเจ้าแรกในการส่งเสริม และพัฒนาแนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเปิดกว้างให้กับทุกผลงานและผู้ที่สนใจทุกคนไม่ว่าจะเป็น Startups นิสิตนักศึกษา และบุคคลทั่วไป มาร่วมผจญภัยในโลกธุรกิจโลจิสติกส์ไปพร้อมกับเรา โดยในปีนี้มีแนวคิดภายใต้ Concept ว่า “The Adventures in Logistics” เพื่อจะมุ่งเน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะมีแนวคิดหรือทำธุรกิจแบบไหน คุณก็สามารถมาร่วม Adventure กับเราในโลกของ Logistics ได้ เพราะอะไรๆก็เป็นไปได้ในโลกของ Panus LogTech เพราะผมคิดว่า Logistics ไม่ใช่แค่เรื่องของการขนส่งเท่านั้น”
จากการดำเนินงานใน 2 ปีที่ผ่านมา เราได้ผลักดันผู้ประกอบการ LogTech Startup เข้าร่วมกองทุนนวัตกรรมโลจิสติกส์ หรือ Logistics Innovation Fund โดยคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง และเป็นStartup ที่เคยผ่านโครงการฝึกอบรมของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ซึ่งได้ร่วมลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 3 บริษัท และหนึ่งในนั้น ได้มีผู้ชนะเลิศจากการประกวด LogTech 2017 ด้วย ถือเป็นการพัฒนาการอย่างเห็นได้เป็นรูปธรรมและนับว่าเป็นการก้าวกระโดดในการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศที่เห็นได้ชัด
นายพนัส วัฒนชัยยัง ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “ความคาดหวังและความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา LogTech ในประเทศไทย คือ ความสามารถตอบสนองนโยบายและทิศทางของประเทศไทยได้รวมถึงการสนับสนุนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกของประเทศไทยด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้ผมหวังว่าจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ของโครงการนี้ พัฒนาและต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่ดีและมีคุณภาพสามารถสร้างเพิ่มมูลค่าและส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ต่อไป”
ด้าน นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ภารกิจหลักของ สวทช. โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ด้านเทคโนโลยี หรือ Tech Startup ให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจ เติบโต และดำเนินกิจการได้อย่างประสบ ความสำเร็จ โดยแบ่ง เซ็กเตอร์ของสตาร์ทอัพออกเป็น 9 กลุ่ม อาทิ กลุ่มเทคโนโลยีภาครัฐ และการศึกษา (GovTech & EdTech) กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กลุ่มเทคโนโลยี อสังหาริมทรัพย์ (PropertyTech) รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคต (IndustryTech) ซึ่งมีกลุ่มภาคการขนส่ง หรือ LogTech เป็นองค์ประกอบสำคัญ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช จึงร่วมมือกับบริษัทพนัสฯ ส่งเสริมสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ ภายใต้โครงการ Panus Thailand LogTech Award ซึ่งในปี 2019 นี้ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว จากทิศทางการทำงานที่ผ่านมา เราค้นพบ บุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สามารถเชื่อมไอเดียธุรกิจ และสตาร์ทอัพที่เกิดใหม่ในกลุ่ม LogTech ไปสู่องค์กรหรือบริษัทที่แสวงหาไอเดียธุระกิจหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปแบบ Open Innovation อีกด้วย ซึ่งในปีนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 นี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจาก กลุ่มนิสิตนักศึกษาร กลุ่มผู้ประกอบการ รวมไปถึงบุคคลทั่วไป โดยทีมที่ผ่านการคัดเลือกใน รอบแรกจะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม LogTech Boot Camp กับผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจ และได้รับความรู้ที่จำเป็นสำหรับการ Pitching เพื่อมาเติมเต็มความพร้อมในการแข่งขันรอบต่อไป พร้อมมุ่งมั่นและ ตั้งใจเฟ้นหาสุดยอดแนวคิดธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้ใน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ได้จริง ก่อให้เกิดการร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดทางธุรกิจและรวมทั้งการสร้าง Community ของกลุ่มโลจิสติกส์ให้เกิดขึ้น น่าจะเป็นอีกครั้งที่ทำให้เราๆทุกคนได้เห็นแนวคิดหรือไอเดียใหม่ นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถ ตอบสนองต่อความต้องการของ Logistics Valued Chain ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้ผลิตและ ผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี”
ผู้ประกอบการที่ชนะเลิศการประกวดผลงานในโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 จะได้รับโอกาสเดินทางเข้าร่วมงานมหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Logistics และเข้าพบ Startup Accelerators/Incubators ต่างๆ ในแทบทวีปยุโรป ซึ่งทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ชนะการประกวดไอเดียธุรกิจ LogTech รับเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 รับเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและเกียรติบัตรการเข้าร่วมแข่งขันประกวดผลงาน
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมประกวดในโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 หรืออ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2W0gCJa
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.