ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ภารกิจด้านอุดมศึกษา) เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาสร้างศักยภาพด้านการวิจัย เพื่อตอบโจทย์ให้กับชุมชนและภาคอุตสาหกรรม โดยมีเครือข่ายบริหารการวิจัย 9 เครือข่ายทั่วประเทศ เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเวทีความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคเอกชนและชุมชน ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก และโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์
โดยในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ได้ริเริ่มให้มีการประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่นของโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก และโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์จริงต่อชุมชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเวทีดังกล่าวถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัย รวมถึงเป็นการสร้างแนวปฏิบัติที่ดีให้กับนักวิจัยในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้ผลงานที่ได้รับรางวัลในการประกวดผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยงานอื่นในการพัฒนาและต่อยอด รวมถึงได้ไปจัดแสดงผลงานในเวทีระดับประเทศ เช่น โครงการ “การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมไบโอเซนเซอร์แบบแถบสีสำหรับการตรวจเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยา isoniazid (INH) และ rifampicin (RMP) สู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์” ของเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคกลางตอนบน ได้ยื่นจดสิทธิบัตร ขึ้นบัญชีนวัตกรรม ได้รับทุน research gap fund จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และได้รับรางวัลนวัตกรรมของประเทศ ด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และรางวัลชมเชย จาก 7 Innovation Award และโครงการ “การสร้างและหาประสิทธิภาพเครื่องตีเกลียวเส้นไหมพุ่งแบบ 2 หัวปั่น สำหรับกลุ่มเกษตรกรทอผ้าไหมในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์” ของเครือข่ายบริหารการวิจัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับกลุ่มเกษตรกรทอผ้าไหม ของชุมชนบ้านสายลม อำเภอหลวงพระบาง สาธาณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับการต่อยอดผลงานนวัตกรรมการผลิตเส้นไหม เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยได้รับรางวัลการประกวดข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2561 ระดับดีเด่น ของสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยและนวัตกรรมดีเด่น ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผลงาน โดยจะคัดเลือกจากผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนฐานราก ประกอบด้วย รางวัลดีเด่น 1 รางวัล และรางวัลชมเชยไม่เกิน 3 รางวัล และโครงการวิจัยและพัฒนาภาครัฐร่วมเอกชนในเชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย รางวัลดีเด่น 1 รางวัล และรางวัลชมเชยไม่เกิน 3 รางวัล ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้เครือข่ายบริหารการวิจัยทั้ง 9 เครือข่าย จัดส่งผลงานที่ดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2561 เข้าประกวด ไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 นี้
“สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้ จะมีการจัดแสดงผลงานและมีพิธีมอบรางวัล ในงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายวิจัยสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 13 (RANC 2019) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 22 พฤศจิกายน 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้หัวข้อ“ขับเคลื่อนพลังเครือข่ายการวิจัยและนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาประเทศไทย 4.0 ให้ยั่งยืน” ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับนิสิต นักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ในเครือข่ายและภาคีชุมชนได้นำเสนอผลงาน รวมถึงเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ ภายในงานยังมีการจัดพื้นที่สำหรับแสดงผลงานของเครือข่ายทั้ง 9 เครือข่าย โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานวิจัยเชิงพื้นที่ในการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับงานวิจัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดให้มีพื้นที่สำหรับเจรจาธุกิจเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและภาคเอกชนอีกด้วย” รองเลขาธิการ กกอ. กล่าวในตอนท้าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.