(21 มิถุนายน 2562) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และยูเนสโก จัดงานแถลงข่าวความพร้อมในการจัด 3 การประชุมสำคัญระดับโลก คือ การประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยชีวจริยธรรม ครั้งที่ 26 (26th Session of the International Bioethics Committee of UNESCO (IBC)) การประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11 (11th Session of the World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology (COMEST)) และการประชุมเชิงวิชาการ Conference on the Ethics of Science & Technology and Sustainable Development ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และศาสตราจารย์ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กรรมการ IBC และอดีตประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยชีวจริยธรรม (IGBC) ของยูเนสโก ร่วมแถลง
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดเผยถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมด้านจริยธรรมระดับโลกว่า ประเทศไทยได้รับเลือกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้เป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการชีวจริยธรรมระหว่างประเทศ (IBC) สมัยที่ 26 และการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมของความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (COMEST) สมัยที่ 11 พร้อมกับการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2 - 7 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมทางวิชาการว่าด้วยจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม เวลา 09.00 น.
“การประชุมด้านจริยธรรม จัดขึ้นสอดรับกับยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สาธารณชนเกิดความกังวลเกี่ยวกับการรักษาจริยธรรมในการวิจัยและการปฏิบัติวิชาชีพสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ตลอดจนหลักประกันความทั่วถึงและความยั่งยืนตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ทั้งนี้ การประชุมทางวิชาการที่จะจัดขึ้นครั้งนี้ จะเน้นความสำคัญของจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในบริบทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยีจีโนม เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และจริยธรรมการวิจัย ส่วนการจัดการประชุม COMEST นับเป็นครั้งที่สองที่ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหลังจากที่เคยเป็นเจ้าภาพแล้วเมื่อการประชุม COMEST สมัยที่ 4 เมื่อปี 2548 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำความตั้งใจของประเทศไทยในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในประชาคมวิจัยและปฏิบัติด้านจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงชีวจริยธรรม และความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ส่วนการประชุม IBC ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม” รศ.นพ.สรนิต กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.