วันที่ 1 - 4 กรกฎาคม 2562 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) ร่วมกับ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา จัดประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 6 ของเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEANTOM ณ จังหวัดกระบี่ โดยมีเครือข่ายนานาชาติทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย อเมริกา และสหภาพยุโรป กว่า 50 คน ระดมความคิด หารือความร่วมมือ รายงานผลกิจกรรมต่าง ๆ มุ่งเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งศักยภาพในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาคอาเซียน พร้อมยกระดับความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ มุ่งสู่ความปลอดภัยอย่างยั่งยืนในอนาคต
วันนี้ (1 กรกฎาคม 2562) เวลา 9.30 น. นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจาก นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม 6th Annual Meeting of ASEANTOM and Technical Session on Nuclear Security in ASEAN ระหว่างวันที่ 1 - 4 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรม dusit D2 จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้แทนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และหน่วยงานคู่เจรจาจากประเทศต่างๆ อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เข้าร่วมกว่า 50 คน ซึ่งได้รับเกียรติจาก พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศ ซึ่งพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 นั้น มีคณะสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ภายในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงร่วมทำข่าวผ่านกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร” อีกด้วย
นางรัชดา กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นปีสำคัญของประเทศไทยในเวทีระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ โดยการเป็นประธานอาเซียน และ ปส.ได้รับหน้าที่เป็นประธานเครือข่ายหน่วยงานกํากับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEANTOM (ASEAN Network of Regulatory Bodies on Atomic Energy) โดย ปส. ได้จัดทำแผนกิจกรรมต่างๆ ในฐานะเจ้าภาพ ได้แก่ การประชุมและฝึกอบรมเพื่อเสริมศักยภาพ รวมทั้ง ความแข็งแกร่งด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในภูมิภาคอาเซียน และหน่วยงานคู่เจรจา ตลอดในปี พ.ศ. 2562 นี้ การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมนานาชาติในฐานะที่ ปส. เป็นประธาน ASEANTOM 2019 ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดกระบี่ โดยความร่วมมือระหว่าง ปส. ร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Energy: U.S.DOE) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนทบทวนและรายงานผลการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายฯ ในปี พ.ศ. 2561 ร่วมหารือแผนงานและกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงการตัดสินใจประเด็นด้านนโยบาย ที่สำคัญและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในโอกาสนี้ ประเทศสมาชิกจะได้ร่วมหารือกับหน่วยงานคู่เจรจาจากประเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาและขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีต่อไปในอนาคต
นางรัชดา กล่าวต่อไปว่า ห้วงเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เครือข่ายฯ ASEANTOM ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานคู่เจรจาในหลากหลายสาขา อาทิ ความร่วมมือด้านการเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี การเฝ้าระวังมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัยของวัสดุนิวเคลียร์และสถานประกอบการ ความมั่นคงปลอดภัยด้านการขนส่ง การตอบโต้การก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ การติดตั้งระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System) รวมไปถึงการติดตั้งสถานีตรวจวัดทางรังสี และสถานีตรวจวัดวิเคราะห์นิวไคลด์กัมมันตรังสี เป็นต้น โดย ปส. เชื่อมั่นว่าการประชุมในครั้งนี้นอกจากจะนำไปสู่การกำหนดทิศทางและนโยบายที่สำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์และช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีภายในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังจะช่วยผลักดันการพัฒนาและขยายผลความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียนกับหน่วยงานคู่เจรจาจากประเทศต่างๆ นอกภูมิภาคอาเซียนในอนาคตได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมประเด็นความปลอดภัยและความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีได้มากยิ่งขึ้น จะส่งผลให้ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีศักยภาพและความเข้มแข็งในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีให้แก่ประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กลุ่มความร่วมมือและประสานงานระหว่างประเทศ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทร. 0 2596 7600 ต่อ 2124
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.