สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “ฟู้ดอินกรีเดียนท์เอเชีย 2019 หรือ Fi Asia 2019” โดยมี นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานในการแถลงข่าว โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ร่วมแถลงข่าวด้วย พร้อมนำตัวอย่างผลงานวิจัย “Green & Sustainable Food” เข้าร่วมกิจกรรมโชว์ชิม อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารกาบาสูง ได้แก่ เครื่องดื่มชาเมล่อน โยเกิร์ตมันม่วง อาหารขบเคี้ยว นอกจากนี้ยังมี เครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพรที่เป็นแหล่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากเห็ด รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดไร้กลูเตน ได้แก่ คุ๊กกี้ น้ำพริกเผา น้ำปลาหวาน เป็นต้น ในวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการจัดงาน FI Asia 2019 ซึ่งถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่วนผสมอาหารและเครื่องดื่มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2562 ณ ไบเทค บางนา ทั้งนี้ วว. ตระหนักถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการทั่วเอเชียในอุตสาหกรรมอาหาร และต้องการผลักดันส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกลุ่มผู้ประกอบการอย่างแท้จริง เชื่อมั่นว่างาน Fi Asia จะเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ผลักดันผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการทั่วเอเชีย ให้พัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่วนผสมอาหารจนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล
ทั้งนี้ วว.จะนำผลงานวิจัยและพัฒนาเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ภายใต้แนวคิด “Green & Sustainable Food” ในรูปแบบการจัดบูธนิทรรศการ แสดงตัวอย่างสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ส่วนผสมอาหาร ที่เป็นผลงานของ วว. เพื่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชมงาน จะได้เห็นถึงภาพรวมและเข้าใจถึงบทบาทของ วว. ที่พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นนำเสนอในกรอบการดำเนินงานและกระบวนการวิจัยพัฒนาที่ช่วยลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีกระบวนการสกัดสารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Zero Waste เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการ/ Startup ได้เกิด Idea และต่อยอดให้เป็น Innovation มีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจและการแข่งขัน พร้อมนี้จะมีการให้บริการอุตสาหกรรมและคำปรึกษาด้าน Food Safety, Food Ingredient, Total Solution แก่ผู้เข้าชมงานด้วย รวมทั้งมีการโชว์ชิมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกคนในสังคม เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีดไร้กลูเตน โดย วว. นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดปลอดสารพิษ/ ไร้กลูเตน/ โปรตีนสูง ทดแทนเนื้อสัตว์ ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้แก่ผู้ประกอบการ และมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ คุ๊กกี้ น้ำพริกเผา น้ำปลาหวาน และจิ้งหรีด/ สะดิ้งอบกรอบพร้อมทาน เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสารกาบาสูง วว. ประสบผลสำเร็จศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสื่อประสาทสำหรับอาการนอนไม่หลับ โดยคัดเลือกวัตถุดิบที่มีปริมาณสารกาบาสูง ได้แก่ เมล่อน ใบชาแห้ง ข้าวกล้องงอก และมะเขือเทศ นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เครื่องดื่มชาเมล่อน โยเกิร์ตมันม่วง อาหารขบเคี้ยวจากข้าวกล้องงอกหอมมะลิ/ ข้าวกล้องหอมมะลิแดงและข้าวไรซ์เบอรี่
เครื่องดื่มเจลลี่สมุนไพร มีส่วนประกอบของพืชและสมุนไพร ที่เป็นแหล่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการลดภาวะเครียดโดยการชักนำให้เกิดการพักผ่อน และป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากภาวะเครียด ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเนื้อนิ่ม รสชาติที่เหมาะสมกับผู้บริโภคทุกวัย สามารถรับประทานได้ง่าย เหมาะกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และวัยทำงานหรือบุคคลที่มีภาวะโรคเครียดที่พบได้มากในสังคมปัจจุบัน โดยในประชากรกลุ่มผู้สูงอายุร่างกายจะสร้างสารเมลาโทนินลดลง และมักพบอาการนอนไม่หลับ ทำให้มีความจำเป็นต้องได้รับเมลาโทนินเพิ่มจากอาหารที่บริโภคเข้าไป และเนื่องจากอยู่ในรูปแบบเจลลี่ที่มีปริมาณน้ำน้อยทำให้สามารถรับประทานก่อนนอนได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการเข้าห้องน้ำยามวิกาล
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบต้ากลูแคนจากเห็ด อยู่ในรูปแบบเม็ด ช่วยลดสภาวะปวด อักเสบของข้อที่เกิดจากอาการโรคเกาต์ และเป็นอีกทางเลือกในการบรรเทาอาการอักเสบที่เกิดเนื่องจากสภาวะของโรคเกาต์ สกัดสารสำคัญจากเห็ด 3 ชนิด ได้แก่ เห็ดหอม (มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นการอักเสบ) เห็ดนางฟ้า (มีฤทธิ์เพิ่มการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต้านอักเสบ) และเห็ดนางรม (มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในสภาวะปกติ)
นอกจากนี้ วว. ยังจะมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “อาหารว่างเพื่อสุขภาพ : Healthy snacks” ให้แก่ผู้เข้าชมงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ ตามเกณฑ์พิจารณาให้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มอาหารขบเคี้ยว ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ภายใต้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 374 พ.ศ.2559
ผู้ว่าการ วว. กล่าวเน้นย้ำถึงศักยภาพความเข้มแข็งของ วว. เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารว่า วว. มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนและให้บริการ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารมานานกว่า 30 ปี มุ่งวิจัยและพัฒนาด้านอาหารตั้งแต่วัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ (Natural Functional Ingredients) รวมถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplements) ผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Foods) จนถึงการผลิตสู่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ วว. พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยด้วยการให้บริการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ รวมทั้งบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รับรองระบบคุณภาพและบริการ ตลอดจนการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP พร้อมห้องปฏิบัติการวิจัยพัฒนาและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง ถือเป็นศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีเพื่อนำไปใช้พัฒนาต่อยอดธุรกิจ โดยให้บริการกับผู้ประกอบการสำหรับทดลองผลิตสินค้าในช่วงที่ผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่งจะเริ่มต้นกิจการ หรือในระยะรอการสร้างโรงงานของผู้ประกอบการ หรืออยู่ในช่วงของการทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมอาหาร วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว. โทร. 0 2577 9000/ 0 2577 9137 โทรสาร 0 2577 9009/ 0 2577 9137 E-mail : innofood@tistr.or.th
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.