สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดพิธีเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อันเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของไทย ศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการที่สำคัญของภาคใต้
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 19.40 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา/ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม/ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ/ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ/ และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ผู้แทนแม่บ้านทหารบก และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาพิธี ทรงประทับพระราชอาสน์ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร/ รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษา เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ระลึกศาสตราจารย์เกียรติคุณ/ ดร.ระวี ภาวิไล/ อ.เฉลิมชนม์ วรรณทอง ผู้อำนวยการหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก/ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้แทนคณะกรรมการจัดงานเข้ารับของที่ระลึก ผู้แทนคณะวาดภาพทางดาราศาสตร์บนผนังอาคารหอดูดาวเข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึก จำนวน 3 ราย ผู้แทนสถานศึกษานำเสนอกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนพื้นที่ภาคใต้ เข้ารับพระราชทานโล่ที่ระลึก จำนวน 2 ราย และผู้มีอุปการคุณเข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 60 ราย
จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นกดปุ่มไฟฟ้า ทรงกดปุ่มเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ จำนวน 1 ต้น และเสด็จเข้าอาคารฉายดาว ซึ่งเป็นโดมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบฟูลโดมดิจิทัล ที่สดร. ได้พัฒนาระบบการฉายภาพที่คมชัดและสมจริงมากยิ่งขึ้น ทอดพระเนตรวีดิทัศน์หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา และโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ของไทย ซึ่งสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยดาราศาสตร์ อาทิ หอดูดาวแห่งชาติ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร รวมถึงกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ ที่สดร. กำลังจัดสร้างอยู่
ต่อมา เสด็จออกจากอาคารฉายดาว ทอดพระเนตรนิทรรศการกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียนพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา จังหวัดปัตตานี และโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา จากนั้น เสด็จฯ ไปยังอาคารนิทรรศการ ทอดพระเนตรนิทรรศการทางดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์ จำนวน 14 โซน อาทิ ฤดูกาลและการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ การเกิดเฟสดวงจันทร์ หลุมดวงจันทร์ แบบจำลองการเกิดน้ำขึ้นน้ำลง น้ำหนักบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ การหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์แก๊ส และภาพถ่ายทางดาราศาสตร์
จากนั้น เสด็จออกจากอาคารนิทรรศการ ผ่านสะพานดาวหางไปยังอาคารหอดูดาว เสด็จเข้าอาคารหอดูดาว ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้บริหารและคณะกรรมการ ทรงลงพระนามาภิไธยบนแผ่นทองเหลือง และเสด็จขึ้นหอดูดาว ทอดพระเนตร ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จากนั้นทรงบันทึกภาพดาวเสาร์ ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.7 เมตร ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และทรงบันทึกภาพเนบิวลาสามแฉก ผ่านกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.43 เมตร ของสดร. ซึ่งตั้งอยู่ ณ หอดูดาวสปริงบรู๊ค ประเทศออสเตรเลีย
เนบิวลาสามแฉก (Trifid Nebula; M20) เป็นทั้งเนบิวลาเปล่งแสง เนบิวลาสะท้อนแสง และเนบิวลามืด ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ดาวเกิดใหม่ที่อยู่ภายในแผ่รังสีออกมากระตุ้นให้กลุ่มแก๊สบริเวณรอบ แผ่รังสีปรากฏเป็นเนบิวลาสว่างสีแดง แต่มีกลุ่มแก๊สหนาทึบบางส่วนบังแสงสว่างทำให้มองเห็นเป็นเนบิวลามืด และเกิดการกระเจิงของแสงบริเวณกลุ่มแก๊สที่อยู่ด้านหลัง จึงมองเห็นเป็นเนบิวลาสะท้อนแสงสีน้ำเงิน
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 21.30 น. เสด็จพระราชดำเนินลงชั้น 1 ทางบันได ออกจากอาคารดูดาว เพื่อทรงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา การเสด็จฯ ทรงเปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในครั้งนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวสงขลาและสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างหาที่สุดมิได้
สดร. มีแผนจัดสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา เน้นการให้บริการวิชาการด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนในท้องถิ่นและใกล้เคียง สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาและค้นคว้าวิจัย รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการที่สำคัญของภูมิภาค
สำหรับ “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา” หรือหอดูดาวภูมิภาคสงขลา เป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 3 ของประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ บริเวณเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ มีจุดเด่นคือ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่น และยังสามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนได้ เนื่องจากสภาพท้องฟ้าของภาคใต้ในเวลานั้นเอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์มากกว่าภูมิภาคอื่น
นอกจากเป็นแหล่งเรียนรู้ดาราศาสตร์เต็มรูปแบบแห่งแรกของภาคใต้ หอดูดาวภูมิภาคสงขลายังเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย มีพันธกิจคือร่วมสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการกำหนดเวลาที่ใช้ในพิธีทางศาสนาอิสลาม อันเป็นการสนับสนุนภารกิจของสำนักจุฬาราชมนตรีอีกด้วย และด้วยทำเลที่ตั้งบนเขารูปช้าง จากหอดูดาวสามารถมองเห็นทะเลสองฝั่ง มีทัศนียภาพที่โดดเด่นสวยงาม คาดว่าจะเป็นแลนด์มาร์คการเรียนรู้ดาราศาสตร์แห่งใหม่ของภาคใต้ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน ประชาชน รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สำหรับการเปิดให้บริการ
เริ่มเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป เวลาทำการวันอังคาร - อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ค่าธรรมเนียม นักเรียน/นักศึกษา 30 บาท บุคคลทั่วไป 50 บาท ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์ไม่เสียค่าธรรมเนียม และมีกิจกรรมดูดาว (NARIT Public Night) ทุกวันเสาร์ 18.00 - 22.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.