องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กับ “สัปดาห์วิทยาศาสตร์ อพวช. ประจำปี 2562” โดยขนความรู้คู่ความสนุกมาให้น้องๆ เยาวชนๆ ได้ร่วมกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างเต็มที่ทั้ง 3 พิพิธภัณฑ์ ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2562 ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ในวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. สามย่าน กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “เนื่องด้วยในวันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งมีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และการศึกษาของไทย เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในการคำนวณการเกิดสุริยุปราคา ณ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล โดยการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการทูตมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแสดงถึงความเป็นอารยะของสยามประเทศ ดังนั้น เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย อพวช. จึงจัดกิจกรรมเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นเป็นประจำทุกปี
และในปีนี้ได้กำหนดจัด “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562” ขึ้น 2 แห่ง ณ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี ในระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 17.00 น. และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. สามย่าน กรุงเทพฯ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 10.30 - 18.30 น. โดยจัดกิจกรรมพิเศษด้านวิทยาศาสตร์มากมาย เพื่อให้ผู้เข้าชมได้ร่วมสนุกทุกกิจกรรมอย่างเต็มที่ โดย อพวช. ได้เตรียมมาตรการในการต้อนรับ พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าชมทุกคนอย่างรอบด้าน โดยปีนี้ มุ่งเน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วยตัวเอง โดยการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งนี้ เยาวชนจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจไปกับกิจกรรมและการทดลองที่จัดขึ้นเพื่อเยาวชนโดยเฉพาะ ได้แก่
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พบกับ “สถานีสวนสนุกวิทยาศาสตร์” โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ
- กิจกรรมกงล้อลวงตา น้อง ๆ จะได้สนุกสนานไปกับการประดิษฐ์กงล้อลวงตาและได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของหลักการสร้างภาพยนตร์ที่เรียกว่า ภาพติดตา
- กิจกรรมลูกข่างเจ็ดสี สนุกสนานและท้าทายไปกับการประดิษฐ์และศึกษาเรื่องราวของลูกข่างลวงตาพร้อมทั้งเรียนรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการหมุนของลูกข่าง
ในส่วนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา พบกับ “สถานีธรรมชาติหรรษา” มีกิจกรรมที่จะมาสร้างความสนุกตื่นเต้น อาทิ
- กิจกรรมปีกแห่งพฤกษา มาเรียนรู้ลักษณะรูปร่างและรูปแบบการเคลื่อนที่ของเมล็ดไม้มีปีกในธรรมชาติ น้องๆจะได้ฝึกการสังเกตและทดลอง ประดิษฐ์เมล็ดพืชในกลุ่มของไม้วงศ์ยาง (DIPTEROCARPACEAE) ได้แก่ ลูกยาง พุงทะลาย เป็นต้น
- กิจกรรมฟาร์มพอเพียง ชวนน้องๆ มาออกแบบฟาร์มพอเพียงด้วยตัวเอง ผ่านการประดิษฐ์ลงบนแผ่นการ์ด โดยยึดหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อการปลูกไร่นาสวนผสม สำหรับเลี้ยงสัตว์และเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งบันทึกข้อความต่างๆลงบนแผ่นการ์ด เพื่อส่งความสุขให้แก่ผู้อื่นได้
สำหรับพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พบกับ “สถานีเปิดโลกสารสนเทศ” ได้จัดเต็มความสนุกกับกิจกรรมเสริมศึกษาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ
- กิจกรรมเวทีกลาง Bingo Show App. / IT Genius ชวนน้องๆ มาสนุกสนานไปกับการแข่งเกมชิงรางวัลมากมาย
- กิจกรรมไฟฟ้าน่ารู้ มารู้จักกับวงจรไฟฟ้า และสนุกไปกับการทดลองต่อวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย จากอุปกรณ์รอบตัว
- กิจกรรมหุ่นยนต์ทรงตัว สนุกกับการหาจุดสมดุลของเจ้าหุ่นยนต์ที่ออกแบบด้วยตัวเอง
และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. พบ 5 สถานีกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ มาเพลิดเพลินและสนุกไปกับกิจกรรมมากมาย อาทิ
- บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เรื่อง ปริศนาเมฆฝน มาเรียนรู้เรื่องวัฏจักรของน้ำกับการเกิดฝน
- Maker Space เรื่อง โซล่าร์เซลล์ ชวนเรียนรู้เรื่องของส่วนประกอบของโซล่าร์เซลล์ และกระบวนการนำพลังงานสะอาดมาใช้เป็นพลังงานทดแทนโดยการประดิษฐ์ของเล่นทางวิทยาศาสตร์
- ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ เรื่อง ช่อกะเฌอ เฮอร์บาเรียม มาสนุกและเรียนรู้เรื่องการเก็บรักษาตัวอย่างพันธุ์พืชให้คงสภาพไว้อยู่ได้นานโดยการถนอมพืชในน้ำมัน Mineral Oil
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02 577 9999 ต่อ 2122 , 2123 www.nsm.or.th และFacebook : NSMThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.