เมื่อเวลา 09.00 น. (14 สิงหาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับเปลี่ยนประเทศด้วยปัญญาจากฐานราก” ในงาน เวทีสาธารณะ Wisdom Movement : ขับเคลื่อนอนาคตชุมชนไทยด้วยงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 2-3 โรงแรมสุโกศล กรงเทพฯ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่ารกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้กล่าวในปาฐกถา ว่า “ในทศวรรษที่ 3 ของการวิจัยท้องถิ่น นั้น มาถึงจุดที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ประเทศไทยที่ผ่านมาติดกับดักมากมาย หัวใจสำคัญอยู่ที่ความไม่สมดุลของ 4 สิ่ง ได้แก่ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ, ความอยู่ดีกินดีทางสังคม, สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย และภูมิปัญญามนุษย์ที่ไม่ได้ถูกปลดปล่อย เมื่อก่อนเราอยู่ในยุคที่พยายามทำให้ประเทศเรานั้นทันสมัยขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และทุนมนุษย์ จากนี้ไปเราจะอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จากการเน้นความทันสมัยไปสู่การเน้นความยั่งยืนเป็นสำคัญ การสร้างความมั่นคงร่วมกันอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน เพราะฉะนั้น โจทย์ของประเทศในอนาคตคือการนำพาประเทศไปสู่ความสมดุล เราจึงจำเป็นต้องมีกรอบทางความคิด ซึ่งเรามีอยู่แล้วนั่นก็คือ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
การเปลี่ยนแนวคิดจากสังคม ME SOCIETY ไปสู่ WE SOCIETY คือการมองสังคมในองค์รวม การสร้างบรรยากาศการเติบโตเพื่อทำให้เกิดปัญญามนุษย์ ระบบของการวิจัยจะต้องเปลี่ยนให้ประชาชนนั้น สามารถนำเอาสิ่งที่อยากทำ มาทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมา เป็นภูมิปัญญามหาชนที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นและสังคมได้”
จากนั้น ดร. สุวิทย์ฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ 20 ปี งานวิจัยนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น นวัตกรรมของชุมชนท้องถิ่น “ชุดศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน” และ เศรษฐกิจฐานรากของท้องถิ่น “ชุดท่องเที่ยววิถีชาวนา”
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. ได้กล่าวรายงานชี้แจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ ในวันนี้ ว่า “เพื่อให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีความต่อเนื่อง วาระครบรอบ 20 ปีของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่ย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 สกสว. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดการประชุม (Forum) งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 20 ปี ระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในทศวรรษที่ 3 ในระบบวิจัยใหม่ ขึ้น ภายใต้ concept : wisdom movement เพื่อให้เกิดการทบทวนบทเรียนการดำเนินงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผ่านมา และร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดทำแผน ววน. เพื่อชุมชนและพื้นที่ รวมทั้งเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายระบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ ”
ภายในงาน มีนิทรรศการ 20 ปี งานวิจัยนวัตกรรมเพื่อท้องถิ่น นวัตกรรมของชุมชนท้องถิ่น “ชุดศูนย์วิจัยนวัตกรรมชุมชน” ที่เปิดพื้นที่สร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ค้นหาและพัฒนาพร้อมทั้งเข้าถึงนวัตกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพและเป้าหมายชีวิต และนิทรรศการชุด “ท่องเที่ยววิถีชาวนา” ที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากให้กับเกษตรกร จากแนวคิดการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยแบบวิถีชาวนา ผ่านการเปิดประสบการณ์และการสร้างการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมให้กับนักท่องเที่ยว เป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างอาชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจของชาวนา
ดร.สุวิทย์ฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ส่วนหนึ่งที่สำคัญ อย่างที่เคยกล่าวไว้ในนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือการขจัดความเลื่อมล้ำ หลายสิ่งหลายอย่างเราจะลงน้ำหนักไปที่ท้องถิ่น อย่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ จริงๆแล้วมีอยู่ที่ท้องถิ่นฐานราก หรือแม้กระทั่งเรื่องของนวัตกรรม ก็จะเน้นนวัตกรรมสังคม นวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมแก้จน เป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ศตวรรษที่ 21 แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยการที่ท้องถิ่นและชุมชนต้องมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ”
ข่าว : นางสาวรุ่งทิพย์ คำพิทุม
ภาพนิ่ง : นายสกล นุ่นงาม
ภาพวิดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : sciencethailand Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.