14 สิงหาคม 2562 : ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ” และเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตอบข้อซักถาม กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในโอกาสไปตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยมหิดล ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับพร้อมกล่าวแสดงความยินดีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และนำเสนอข้อมูลความก้าวหน้าของมหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯมองว่าจุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยากให้ขับเคลื่อน ประเด็นแรก คือ เรื่อง Internationalization หรือ ความเป็นสากล กับอีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง Innovation ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการและประมวลเพื่อตอบโจทย์รัฐบาลในเรื่องของเป้าหมายที่เรียกว่า Re-inventing Healthcare System หรือการปฏิรูปและปรับปรุงระบบสุขภาพของทั้งประเทศ รวมไปถึงยังสามารถครอบคลุมไปถึงเรื่องของการเชื่อมโยงไปสู่การขยายผลกับอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้เกิดพึ่งพาตัวเองให้มีการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศได้มากขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน หรือ Competitiveness ผ่านเรื่อง BCG Model ซึ่งก็คือ เศรษฐกิจใน 3 มิติ ประกอบด้วย มิติแรก คือ Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ มิติที่สอง คือ Circular Economy หรือเศรษฐกิจที่หมุนเวียนต่างๆ และมิติที่สาม คือ Green Economy หรือเศรษฐกิจฐานรากที่มุ่งเน้นการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จะจัดสรรงบประมาณเพื่อเข้ามาช่วยผลักดันในส่วนของทิศทางของเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ในอีกมิติหนึ่งในความเป็นสถาบันอุดมศึกษาซึ่งประเทศไทยเองจะต้องแข่งขันกับนานาชาติ ทางรัฐบาลมองว่ามหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะเป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัย ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยต้นแบบของประเทศที่ขึ้นไปอยู่ในอันดับ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก โดยได้วางงบประมาณไว้ที่ 1,000 ล้านบาท และจะเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้เสนอ concept ต่างๆ เข้ามาหารือเพื่อขับเคลื่อนใน step ต่อไป
“ในระดับโลก อว. มีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน 100 อับดับแรกของโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อดึงคนเก่งที่มุ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลกมาเรียนในเมืองไทยและจะเป็นแรงกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยอื่นเกิดการตื่นตัว และมีความเป็นไปได้ที่ส่งผลให้ประเทศมีพลังในด้านการวิจัย พัฒนาและการลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง สำหรับการตอบโจทย์ประเทศมหาวิทยาลัยมหิดลต้องมองว่าระบบการดูแลสุขภาพของประเทศในอนาคตควรเป็นอย่างไร และเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมหิดลจะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และศักยภาพมหาวิทยาลัยอย่างไรให้ตอบโจทย์ประเทศเพื่อการยกระดับสุขภาพคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมของความเป็นมนุษย์ในระดับผู้นำของโลกด้านระบบการดูแลสุขภาพ (Healthcare system) ท่ามกลางกระแสการล่มสลายและพลิกผันของเทคโนโลยี (Disruption Technology) ซึ่งมหิดลทำได้อยู่แล้วเพราะมหิดลอยู่ในระบบของการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่ออนาคต (Frontier Research) ซึ่งระบบงบประมาณแบบใหม่และการแก้ไขข้อขัดข้องด้านกฏระเบียบจะทำให้มหิดลมีพลังเพียงพอที่จะไปสู่เป้าหมายที่กำหนดให้ในวันนี้...นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย” รมว. อว. กล่าวในตอนท้าย
ภาพ : ่กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ / ส่วนสื่อสารองค์กร
ข่าว : ปิยาณี วิริยานนท์
สป.อว. อาคารอุดมศึกษา ถนนศรีอยุธยา
โทร. 02-0395606-9 / Facebook:opsmhesi
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.