เมื่อเวลา 09.00 น. (21 สิงหาคม 2562) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงผลงานความสำเร็จการพัฒนา COBOT และการเสวนาหัวข้อ Tech 4 Gens โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงฯ (สป.อว.) ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อนำเสนอผลงานการยกระดับเทคโนโลยี COBOT หรือ collaborative robot หุ่นยนต์ที่ถูกพัฒนาให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ สามารถสั่งการผ่านระบบเสียง และหยุดทำงานได้ทันทีที่เกิดแรงสัมผัสจากบุคคล ทำให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน ในการนี้ นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ได้กล่าวเปิดงานฯ และแถลงผลงานความสำเร็จ COBOT ร่วมกับ นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักร MTEC และ ดร.จอมขวัญ มั่นแน่ หัวหน้าทีมพัฒนางานวิจัย COBOT นักวิจัย MTEC พร้อมกันนี้ ยังมีเวทีเสวนา Tech 4 Gens จากผู้ทรงคุณวุฒิในสายงานเทคโนโลยี ทั้ง 4 Gens นำโดย นายเขมรัฐ โชคมั่งมี, ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์, ดร.จอมขวัญ มั่นแน่ และดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในสายงานเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ให้แก่ผู้เข้าร่วมงานฯ ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า “ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการด้านวิศวกรรม ของสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เราสนับสนุนการพัฒนาการสร้างเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ โดยฝีมือคนไทย ร่วมกับผู้ประกอบการที่มีความต้องการจะนำเอาเทคโนโลยีที่พัฒนาไปใช้ประโยชน์ ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ซึ่ง COBOT เป็นอีก 1 ความสำเร็จของการพัฒนา ที่วันนี้เราได้นำมาแถลงฯกัน”
สำหรับ COBOT หรือ collaborative robot เป็นหุ่นยนต์ที่มีระบบการทำงานที่ฉลาด สามารถหน่วงหรือหยุดได้ทันทีที่เกิดแรงสัมผัสจากบุคคล ในรูปแบบที่สร้างความปลอดภัยให้กับการทำงานในพื้นที่ร่วมกับมนุษย์ และน่าสนใจที่งานวิจัยและพัฒนา COBOT สามารถนำไปต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้งานได้อยากหลากหลาย ทั้งในด้านอุตสาหกรรม การดูแลผู้ป่วย หรือเพื่อการสันทนาการ
ในส่วนของเวทีเสวนา Tech 4 Gens นั้น เหล่าผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 4 Gens ได้นำเอาองค์ความรู้มาถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของแต่ละช่วงวัยเกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดในปัจจุบัน รวมถึงอัพเดทเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามาอย่างรวดเร็ว
วิทยากร นายเขมรัฐ โชคมั่งมี หัวหน้าศูนย์ Digital Innovation Technology Center บจก. พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น “ผมอยู่มาตั้งแต่ยุค 2.0 ในช่วงนั้นอุตสาหกรรมกำลังมาแรง ไม่นานก็เริ่มมีคอมพิวเตอร์มาควบคุมเข้าสู่ยุค 3.0 พอมาถึงยุค 4.0 ในวันนี้ทุกคนต้องสนใจ เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน รวมไปถึงธุรกิจ คนจึงต้องมาเสริมทักษะเพื่อให้ก้าวทันโลก”
วิทยากร ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม “พอเทคโนโลยีเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รุ่น Baby Boomer เวลาที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา กว่าเราจะเรียนรู้เรื่องต้องมานั่งเปิดคู่มือ ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่สิ่งแวดล้อมถูกล้อมรอบไปด้วยเทคโนโลยี ทำให้เมื่อมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาเขาจะสามารถใช้ได้เลย เพราะงั้นจะทำยังไงให้ใช้งานได้ง่าย ที่เหมาะกับทุก Gens จะทำยังไงให้เขารู้สึกว่ามันใกล้กับเขามากที่สุด”
วิทยากร ดร.จอมขวัญ มั่นแน่ นักวิจัย MTEC “เทคโนโลยีในสมัยก่อน ถ้าอยากล้ำต้องแพง แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องแพง แต่ต้องมีความรู้เป็นพื้นฐาน สำหรับผู้ประกอบการถ้าอยากจะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิต จะต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง อะไรคือจุดสำคัญที่คิดว่าน่าจะคุ้มค่ากับการลงทุน ”
วิทยากร ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยและออกแบบแก้ปัญหาอุตสาหกรรม MTEC “เทคโนโลยีมันมีช่องว่าง มีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงอะไรที่แปลกใหม่ ซึ่งในเชิงของผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นสำหรับผู้สูงอายุมันจะต้องมีความเฉพาะเขาถึงจะกล้าใช้ เป็นอีก 1 โจทย์ที่ทางทีมวิจัยเรากำลังออกแบบอะไรบางอย่างให้เหมาะกับผู้สูงอายุที่สุด เพื่อที่จะดึง Gens ต่างๆ ให้เข้าถึงกันมากที่สุด”
ข่าว : นางสาวรุ่งทิพย์ คำพิทุม
ภาพนิ่ง : นายปวีณ ควรแย้ม
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : sciencethailand Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.