องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา รับร่างพะยูนน้อย “น้องมาเรียม” จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเสียชีวิตจากการกินขยะพลาสติกในท้องทะเลไทยเตรียมทำการสตัฟฟ์เพื่อการศึกษา หวังให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากยิ่งขึ้นต่อไป
ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. เป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง อีกทั้งยังเป็นศูนย์จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางชีวภาพ มีการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงผ่านตัวอย่างสัตว์สตัฟฟ์เกือบทุกกลุ่ม ซึ่งการสตัฟฟ์สัตว์เป็นการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ผสานกับศิลปะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีท่าทางเสมือนยังมีชีวิตในอิริยาบถที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ซึ่งทาง อพวช. ถือเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสตัฟฟ์สัตว์อันดับต้นๆ ของประเทศ ที่มุ่งมั่นทำการศึกษาและพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจังมาโดยตลอด”
ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กล่าวว่า “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาได้ให้ความความสำคัญงานด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและการเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยามาโดยตลอด โดยเฉพาะการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่อย่าง Taxidermy ด้วยความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา อพวช. ได้ทำการสตัฟฟ์สัตว์และนำมามาจัดแสดงนิทรรศการมากมาย ถือเป็นมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย ในกรณีของน้องมาเรียม ทางด้านทีมนัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กำลังวางแผนและหารือเรื่องวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้สมบูรณ์และดีที่สุด โดยจะดำเนินการสตัฟฟ์หลังงามหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2562 เสร็จสิ้นลง ซึ่งคาดว่าการสตัฟฟ์น้องมาเรียมจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ”
ด้านนายวัชระ สงวนสมบัติ ผู้อำนวยการกองวัสดุอุเทศธรรมชาติวิทยา นัก Taxidermy ผู้เชี่ยวชาญด้านสตัฟฟ์สัตว์ของ อพวช. กล่าวว่า “ขณะนี้ อพวช. ได้เก็บรักษาน้องมาเรียมลูกพะยูนเอาไว้ในห้องแช่แข็งลบ 20 องศา เพื่อคงสภาพผิวหนังของมาเรียมไม่ให้เน่าเปื่อย ส่วนเรื่องการสตัฟฟ์นั้นต้องรอปรึกษากับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายอีกครั้งก่อนทำการสตัฟฟ์ โดยการสตัฟฟ์สัตว์ คือ การนำหนังของสัตว์ที่ตายลงมาทำการรักษาสภาพใว้ให้ใกล้เคียงกับตอนมีชีวิต ในสภาพการเก็บแบบแห้ง โดยไม่มีโครงกระดูกและกระโหลกศีรษะ การสตัฟฟสัตว์ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้ผลงานออกมาเหมือนจริงมากที่สุด โดยเฉพาะ Anatomy กายวิภาคเฉพาะของสัตว์ชนิดนั้นๆ สัตว์สตัฟฟ์จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ไม่ให้ชำรุดเสียหาย จากความร้อน ความชื้น แมลง เชื้อรา หนูและแมลงสาบ ที่อาจทำความเสียหายต่อสัตว์สตัฟฟ์ได้
ซึ่งความยากของการสตัฟฟ์ครั้งนี้ คือการรักษาสภาพหนังของมาเรียม เพราะหนังของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล เช่น วาฬ โลมา และพะยูนนั้น จะมีไขมันค่อนข้างหนามากแทรกอยู่ จึงมีความยากกว่าการสตัฟฟ์สัตว์บก จึงต้องนำหนังผ่านกระบวนการเพื่อให้ไขมันออกจากหนังให้มากที่สุด มิฉะนั้นหนังจะเปียกเยิ้ม ไม่แห้ง และไม่สามารถขึ้นรูปให้คงสภาพตามที่ต้องการได้ อีกทั้งจะเกิดการเปื่อยยุ่ย ขึ้นรา เน่าเสีย หรือเสียหายได้ง่าย และยังต้องใช้การขึ้นรูปให้เสมือนจริงที่สุด รวมถึงเย็บผิวหนังและตกแต่งลักษณะภายนอกให้ถูกต้องและสวยงามอีกด้วย นอกจากการสตัฟฟ์แล้ว ยังสามารถต่อโครงกระดูกน้องมาเรียมเก็บไว้ศึกษาต่อได้อีกโดยทำหุ่นจำลองไว้หลายๆ ที่ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และจดจำน้องมาเรียมตลอดไป”
ปัจจุบันขยะพลาสติกในทะเล นับเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลอย่างมาก มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ได้รับผลกระทบจากขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลทำให้เกิดวิกฤตปัญหาขยะทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก อย่าง เต่าทะเล พะยูน โลมา และวาฬ ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากหนึ่งการสูญพันธุ์ นำไปสู่การสูญสิ้นอันเนื่องมาจากสายใยในห่วงโซ่อาหารเพียงเส้นเดียวต้องขาดสะบั้น ทั้งนี้ อพวช. ตระหนักถึงปัญหาและให้ความสำคัญถึงปัญหานี้จึงได้จัดแสดงนิทรรศการพลาสติกพลิกโลก (Plastic Changed the World) ขึ้นภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำเป็น 2562 โดยจัดแสดงเกี่ยวกับขยะพลาสติกซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ พร้อมร่วมค้นหาคำตอบว่าทำไมพลาสติกสารพัดประโยชน์จึงกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบกลับมาทำร้ายมนุษย์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้เห็นถึงปัญหาขยะทะเลมากยิ่งขึ้น และอีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจ อย่างนิทรรศการพินิจ พิพิธ-พันธุ์ (Biodiversity AMUSUE-um) ที่ชวนมาเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการจัดแสดงในรูปแบบของ Collection base ที่จัดแสดงการจัดเก็บความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบของตัวอย่างดอง, ตัวอย่างแห้ง และสัตว์สตัฟฟ์ ซึ่งเสมือนยกพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยามาจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับผู้สนใจมาศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถมาเยี่ยมชมได้ใน “งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำเป็น 2562” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่วันนี้ - 25 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 - 19.00 น.
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.