อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของ สอว. โชว์ “โครงการพัฒนาต้นแบบวัสดุปลูกอินทรีย์เพื่อการปลูกพืชผักในอาคาร” พร้อมชั้นวางปลูกผักภายใต้แนวคิด Eatable Furniture หรือเฟอร์นิเจอร์ที่กินได้
วันนี้ (29 สิงหาคม 2562) น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมอุทยานวิทยาศาสตร์ (ผอ.สอว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนของ สอว. โดยได้เข้าเยี่ยมชมสำนักงานบริษัทยู - เฮลธี จำกัด พื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือพร้อมจัดแสดงตัวอย่างงานวิจัยวัสดุปลูกอินทรีย์เพื่อการปลูกพืชในอาคารและชั้นวางปลูกผักภายใต้แนวคิด Eatable Furniture หรือเฟอร์นิเจอร์ที่กินได้พร้อมเยี่ยมผลงานความร่วมมือระหว่างบริษัทยู - เฮลธี จำกัด กับ บริษัท ทิวา อินโนเวท จำกัด ในการสร้างเทคโนโลยีโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี NSP Innovation Eco System และบริการจากอุทยานฯ เป็นตัวเชื่อมประสานความร่วมมือ
น.ส.ทิพวัลย์ กล่าวว่า บริษัทยู – เฮลธี จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ใช้บริการพื้นที่สร้างสรรค์ นวัตกรรมครบวงจรในอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคเหนือ ภายใต้โครงการพัฒนาต้นแบบวัสดุปลูกอินทรีย์เพื่อการปลูกพืชผักในอาคาร ตั้งแต่เดือน พ.ย.2561 โดยร่วมมือกับ ผศ.ดร.อรวรรณ ฉัตรสีรุ้ง นักวิจัย สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างและพัฒนาวัสดุอินทรีย์คุณภาพสูงที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการปลูกพืชใบและพืชผลด้วยวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรอย่าง ซังข้าวโพด เปลือกถั่วลิสง ผักตบชวา และ ขุยมะพร้าว มาเป็นวัสดุพื้นฐานในการสร้างวัสดุปลูก โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำสูตรที่วิจัยและพัฒนาแล้วมาทดลองปลูกในห้องปฏิบัติการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บริษัทยู – เฮลธี จำกัด อยู่ระหว่างการทำวิจัย พัฒนาและแตกไลน์การให้บริการอื่นๆ ภายใต้ธุรกิจอีกมาก โดยเฉพาะ การพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรไทยอันดับ Top 5 ของโลก อย่างไพล บัวบก ขมิ้นชัน กระชายดำและฟ้าทะลายโจร ให้เป็นสมุนไพรที่เติบโตได้ด้วยการปลูกในระบบปิด หรือ การพัฒนาวัสดุเชิงประกอบพอลิเมอร์ผสมตัวเติมแรงผงเส้นใยกัญชง เป็นต้น การที่บริษัทยู – เฮลธี จำกัด มาอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือที่มีระบบนิเวศนวัตกรรม ทำให้เกิดการผสานกลไกนวัตกรรมระหว่างบริษัทยู – เฮลธี จำกัด กับ บริษัท ทิวา อินโนเวท จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรม Plant Factory เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NSP INNOVATION AWARDS 2019 และรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ MOST INNOVATION AWARDS 2019 สาขากระบวนการนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ในการทดลองปลูกพืชด้วยโรงเรือนแบบปิดผสานเทคโนโลยีแรปปิดช่วยให้พืชผักเติบโตได้ไวยิ่งขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.สิริวัฒน์ สาครวาสี และ ผศ.ดร.ปรีดา นาเทเวศร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี Plant Factory ของสาขาพืชผัก คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สร้าง Plant Factory ขนาดนำร่องให้แก่คณะพัฒนาการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ณ อาคารพัฒนาวิสัยทัศน์ เพื่อให้ผู้สนใจเยี่ยมชม โดยมี บริษัท ยู – เฮลธี จำกัด เป็นผู้ผลิตโครงสร้างของเครื่องมืออุปกรณ์ Plant Factory
นอกจากนั้น บริษัท ทิวา อินโนเวท จำกัด ยังได้ต่อยอดระบบการปลูกผักพร้อมทานในบรรจุภัณฑ์ “Veg in the box” ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมการปลูกผักในรูปแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีการปลูกในระบบปิดภายใต้แสงไฟเทียมผสมผสานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่พืชผักสามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วมากกว่าปกติถึงร้อยละ 50 โดยไม่ต้องสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอก จึงทำให้การปนเปื้อนจากฝุ่นหรือเศษดิน ศัตรูพืช พร้อมกับใช้งบประมาณลงทุนต่ำ สามารถปลูกได้ตลอดปี เก็บรักษาได้นานขึ้น ลดการใช้แรงงานและขั้นตอนการดูแลผัดได้มากกว่าการปลูกแบบทั่วไป “ผลงานดังกล่าวทำให้ทั้ง 2 บริษัท เดินหน้าต่อยอดความร่วมมือในการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องและร่วมพัฒนาระบบควบคุมแสงอัตโนมัติตามการเจริญเติบโตของพืชขนาดใหญ่ เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการเกษตรตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ พร้อมยกระดับธุรกิจไทย” ผอ.สอว.กล่าว
ต่อมา ผอ.สอว. ได้นำสื่อมวลชนไปดูการยกระดับสาหร่ายเกลียวทองสายพันธุ์ไทย ผลิตภัณฑ์ภายใต้บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด หรือ บุญสมฟาร์ม หนึ่งในผู้นำด้านการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ที่มีแนวคิดในการพัฒนาสาหร่ายเกลียวทองต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยอาศัยองค์ความรู้จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ผ่านการเข้ารับบริการจากอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหารจากสาหร่ายเกลียวทองกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity Development Program: IRTC) ร่วมกับ ผศ.ดร.สุทัศน์ สุระวัง อาจารย์นักวิจัยจากสาขาวิชาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.เชียงใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากงานวิจัยสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยวจากธัญพืชอบกรอบผสมสาหร่ายเกลียวทองที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายและในปริมาณสูง
รวมทั้ง ได้วิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “Spirogel” ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดสาหร่ายเกลียวทองที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของผิวหนัง ร่วมกับ ผศ.ดร.ยิ่งมณี ตระกูลพัว อาจารย์นักวิจัยจากสาขา จุลชีววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พร้อมรับบริการจากอุทยานฯ ผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีฯ (IRTC) และโครงการภายใต้กิจกรรมการพัฒนา Tech-based Startup ด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคและเครือข่าย (TESNet) โดยใช้เทคโนโลยีในการสกัดสารสำคัญจากสาหร่ายเกลียวทองซึ่งเป็นสารสกัดจากธรรมชาติมาพัฒนา สู่ผลิตภัณฑ์ประเภทเจลที่ปลอดภัยกับผิวหนัง สามารถทดแทนการใช้ตัวยาสังเคราะห์จากสารเคมีได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.