สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) นำรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา พร้อมคณะเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน เยี่ยมชมสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เสริมความเข้าใจการทำงานภายใต้สนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) และแสดงศักยภาพประเทศไทยพร้อมเฝ้าตรวจการทดลองนิวเคลียร์จากทั่วโลกเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (10 กันยายน 2562) นางรัชดา เหมปฐวี รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับมอบหมายจากนางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นำบุคลากรสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นำโดย นางสิรินทร์ พันธ์เกษม รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบองค์การระหว่างประเทศและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยนายบุรินทร์ เวชบรรเทิง ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว (ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา) เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (RN65) ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และรับฟังการบรรยายการดำเนินงานภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) ตามการประสานงานจาก สตง. ในโอกาสได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจสอบภายนอกของคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (The Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization, CTBTO/PrepCom) สำหรับวาระปี พ.ศ. 2561-2562 โดยมี รศ.น.สพ.ดร.อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน ให้การต้อนรับในฐานะหน่วยงานที่ให้ความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ และอำนวยความสะดวกมาโดยตลอด
นางรัชดา เปิดเผยว่า สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (RN65) แห่งนี้ จัดตั้งขึ้นตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญา CTBT แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2560 และได้รับการรับรองมาตรฐานจาก CTBTO/PrepCom เมื่อปี พ.ศ. 2561 ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีจะทำการเก็บ เตรียม และวัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีที่ปล่อยรังสีแกมมาในฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมกับส่งผลไปยัง CTBTO/PrepCom ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เป็นประจำทุกวันเพื่อวิเคราะห์ผลการวัดร่วมกับเทคโนโลยีเฝ้าตรวจแบบอื่นๆ ของ CTBTO/PrepCom ทำให้สามารถรู้ได้หากมีการทดลองนิวเคลียร์ขึ้นไม่ว่าที่ใดบนโลก ซึ่งการดำเนินงานของสถานีฯ อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการได้รับตำแหน่งผู้ตรวจสอบภายนอก แสดงให้เห็นบทบาทที่โดดเด่นของประเทศไทยในการสนับสนุนการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ทั้งในระดับภูมิภาคและประชาคมโลก โดยเร็วๆ นี้ ปส. มีแผนยกระดับศักยภาพของสถานีโดยการติดตั้งระบบเฝ้าตรวจก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี (Radioactive Noble Gas) ซึ่งจะทำให้มีสมรรถนะในการเฝ้าตรวจที่เหนือกว่าสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสีอื่นในภูมิภาคอาเซียนเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2579 7600 ต่อ 1113 - 1114
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.