เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 นายนิคม ปัญญาทวีกิจไพศาล ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation-Based Enterprise Development Fund หรือ TED Fund) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการของผู้ประกอบการที่กองทุน TED Fund ให้การสนับสนุนการใช้นวัตกรรม เพื่อเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการ และการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการพัฒนาธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำซ้ำ และขยายตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โครงการแรก คือ โครงการฮอร์แกไนซ์ (Horganice) ที่เป็น Platform ที่ช่วยทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก อพาร์ทเม้นท์ ได้เป็นเสือนอนกิน โดย Platform แบ่งการการทำงานเป็น 4 ส่วน คือ 1.ระบบบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นระบบที่ช่วยผู้ประกอบการในการ บริหารงานในเรื่องต่างๆ เช่า การทำสัญญาเช่า การย้ายเข้า-ย้ายออก สร้างใบแจ้งหนี้ วางใบแจ้งหนี้ รับชำระค่าเช่า ผลประกอบการ ลดความเสี่ยงพนักงาน ติดต่อกับผู้เช่า เป็นต้น 2.IoT Horganice ร่วมกับ Partner พัฒนา Hardware IoT เพื่อเพิ่มประสิทธิในการบริหารงานให้กับผู้ประกอบการหอพัก อพาร์ทเม้นท์ เช่น Digital Meter ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเดินจดตัวเลขมิเตอร์ในทุกๆเดือน โดยสามารถดึงข้อมูลและสั่งเปิด - ปิด ไฟผ่านระบบได้ 3.บริการ Horganice ร่วมกับ Partner เพื่อให้บริการต่างๆกับผู้ประกอบการหอพัก เช่น บริการช่างซ่อม บริการแม่บ้าน บริการทำบัญชี เพื่อลดต้นทุน และ ลดเวลาในการทำงานให้กับผู้ประกอบการ และ 4.ระบบปล่อยห้องเช่า เราพัฒนาระบบปล่อยห้องเช่าช่วยเจ้าของกิจการในการทำการตลาด หาลูกค้าเข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้ให้เจ้าของกิจการ
โครงการต่อมา คือ โครงการ LetsFunds แหล่งรวมเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้รวดเร็ว โดย LetsFunds จะมีระบบค้นหาและประเมินเงินทุนจากโครงการภาครัฐทั้งในระดับประเทศและในเขตพื้นที่อย่างเหมาะสม มีระบบประมวลผลที่แม่นยำ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยวิเคราะห์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ รวมถึงการจองเวลาขอรับคำปรึกษาและบริการลูกค้าออนไลน์ โดยการใช้งานง่าย ฟรี และลดขั้นตอนการเข้าถึงเงินทุนให้รวดเร็ว ประหยัดเวลา และสามารถใช้บริการเบื้องต้นของระบบเบื้องต้นได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแพลตฟอร์มเปิดให้บริการในรูปแบบเว็บไซต์ โดยมีระบบประเมินผ่าน Letsfunds Score ซึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาและวิจัยของบริษัทและผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทำให้ระบบใช้งานง่าย สะดวก แม่นยำ และปลอดภัยจากผู้ใช้บริการ
และ โครงการสุดท้ายของการติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้ คือ โครงการนวัตกรรมพลาสมาเพื่อการสลายสารเคมีตกค้างบนผัก และผลไม้สำหรับผู้ส่งออก เพื่อแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในภาคครัวเรือน และผู้ส่งออกผักและผลไม้ที่ประสบปัญหาพบสารเคมี ยาฆ่าแมลงและเชื้อจุลินทรีย์ตกค้าง จนเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถส่งออกได้ ของนายนรพนธ์ วิเชียรสาร ที่คิดค้นนวัตกรรม icroPAW คือ การนำพลาสมาซึ่งเป็นสถานะที่ 4 ของสสารที่ได้จากการแตกตัวของกระบวนการ Ionization และ Excitation ของก๊าซ โดยจากการแตกตัวนี้เองทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ของอนุมูลอิสระของกลุ่ม ROS หรือ Reactive Oxygen Species ซึ่งกลุ่มอนุมูลเหล่านี้จะทำงานร่วมกับนวัตกรรมฟองอากาศขนาดไมครอน หรือ ไมโครบับเบิ้ล ที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผมถึง 80 เท่า เพื่อกำจัด หรือ ทำความสะอาดบนพื้นผิวที่มีความซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มอนุมูลเหล่านี้จะเข้าไปเกาะอยู่รอบฟองอากาศขนาดเล็กนี้ และเมื่อกลุ่มอนุมูลอิสระสัมผัสกับสารเคมีบนผิวของผลไม้ก็จะทำลายพันธะของสารเคมีนั้นๆ ให้หมดฤทธิ์ไปกลายเป็นสารอินทรีย์ที่ไม่มีความเป็นพิษ ซึ่งภายหลังการทำงานของอนุมูลอิสระกลุ่มอนุมูลก็จะคืนสภาพกลับสู่สภาพดั้งเดิม ได้แก่ ออกซิเจน น้ำ และไฮโดรเจน โดย เครื่อง Micro PAW System สามารถช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งในภาคครัวเรือน และผู้ส่งออกผักและผลไม้ที่ประสบปัญหาพบสารเคมี ได้เกือบ 100% และเป็นเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นจากความตั้งใจให้เป็นเทคโนโลยีสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.