วันนี้ (1 ตุลาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว) พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม/ ศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารระดับสูง และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เข้าร่วมประชุมหารือ แนวทางการพัฒนาความร่วมมือและการดำเนินการของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนศรีอยุธยา
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ใหม่มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบด้วย 4 ประเด็น ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1.การพัฒนาท้องถิ่น : ด้านเศรษฐกิจ, ด้านสังคม, ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา/ ยุทธศาสตร์ที่ 2.การผลิตครูและพัฒนาครู : การผลิตครู ระบบปิด/เปิด, การพัฒนาศักยภาพครู และสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้/ ยุทธศาสตร์ที่ 3.การยกระดับคุณภาพการศึกษา : ยกระดับความเป็นเลิศของ มรภ., พัฒนาศักยภาพอาจารย์ด้านการจัดการเรียนรู้และความเชี่ยวชาญในสาขา และคุณภาพบัณฑิต/ และยุทธศาสตร์ที่ 4.การพัฒนาระบบบริหารจัดการ : การแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบในการพัฒนาท้องถิ่น, ระบบฐานข้อมูล, การใช้ทรัพยากรร่วมกัน, พัฒนาเครือข่าย และการจัดระบบงานสู่ความเป็นเลิศและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยมีความสอดคล้องกับโจทย์ตามพระราโชวาทพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
“….ตามที่ได้รับรายงานให้ทราบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏได้ดำเนินงานพัฒนาท้องถิ่นอย่างจริงจัง อย่างจริงจัง ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพสูงขึ้นนั้น น่าพอใจอย่างมาก. กล่าวได้ว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ มีความรู้ความสามารถเป็นพื้นฐานที่ดี เหมาะที่จะเป็นผู้นำและเป็นกำลังหลักในการพัฒนาท้องถิ่นได้. ดังนั้น เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงาน ไม่ว่าจะเป็นงานใด อยู่ ณ ที่ใดก็ตาม นอกเหนือจากงานในหน้าที่แล้ว ทุกคนจึงควรจะได้ถืองานพัฒนาท้องถิ่นเป็นงานสำคัญอีกอย่างหนึ่งด้วย. หากบัณฑิตทุกคนเข้าใจดังนี้ แล้วนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีอยู่ มาปรับใช้ในการปฏิบัติให้บังเกิดผล แต่ละท้องถิ่นอันเป็นรากฐานของประเทศก็จะมีความเจริญวัฒนายิ่งๆ ขึ้น และส่วนรวมคือชาติ บ้านเมือง ก็จะมีความเจริญมั่นคงอย่างแท้จริง...”
พระราโชวาทพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (พ.ศ. 2562)
รมว.อว. กล่าวต่อว่า หากถามว่า ทำไมจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จะขับเคลื่อนและผลักดันการดำเนินงานในด้านนี้ นั้นเป็นเพราะว่า
1. มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดตั้งขึ้น เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 38 แห่ง
3. มหาวิทยาลัยราชภัฏ แบ่งพื้นที่บริการในความรับผิดชอบ
4. มหาวิทยาลัยราชภัฏ คือ ฐานการผลิตครูของไทย
5. มหาวิทยาลัยราชภัฏมีศักยภาพ (ถ้ารวมตัวกันและสามารถจัดระบบได้ จะเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้อย่างมาก)
โจทย์ทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องร่วมมือกัน ระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย เพื่อให้การดำเนินงานเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ “ราชภัฏแต่ละแห่งมีความหลากหลายที่แตกต่างกันไป จุดใดเหมือนให้รวมพลัง สร้างและพัฒนาอย่างเข้มแข็ง จุดใดที่แตกต่าง ให้ดึงจุดนั้นสร้างเป็นจุดเด่นของแต่ละพื้นที่”
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.