ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2562 ได้มีมติจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (NRCT Air Quality Information Center, NRCT AQC) เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้งสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงปลายปีนี้และต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า โดยศูนย์เฝ้าระวังฯ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งศูนย์เฝ้าระวังฯ จะรายงานสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ที่สำคัญจะมีการพยากรณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแนะนำแนวทางการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้า โดยข้อมูลจะมีความถูกต้องแม่นยำและเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที ผ่านระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านเว็บไซต์ https://pm2_5.nrct.go.th โดยจะแสดงผลคุณภาพอากาศจากการรวบรวมข้อมูลการรายงานค่าความเข้มข้นฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM10 จากหลายๆ หน่วยงานทั่วประเทศ รวมจุดติดตั้งประมาณ 800 จุด ซึ่งจะนับเป็นฐานข้อมูลแบบเบ็ดเสร็จที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน (Single Database) เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลและการรายงานผลคุณภาพ โดยเฉพาะปริมาณ PM 2.5, PM10 และ Air Quality Index มีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน/ สถานีตรวจวัด ทำให้ขาดการบูรณาการ การเชื่อมโยงข้อมูล
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับศูนย์ฝ้าระวังฯ อย่างมาก โตยเฉพาะในเรื่องของความถูกต้องทันสมัยของข้อมูล โดยได้เน้นย้ำว่าจะต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมการรับมือ โดยไม่ให้เกิดความตระหนกและให้ศูนย์ฯ นี้ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเบื้องต้น อว. จะร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุขในการขยายผลและติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก Dustboy ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ และคาดว่าจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศได้จำนวน 8,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาขนตระหนักและเข้าถึงข้อมูล พร้อมทั้งสามารถรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นละอองได้อย่างทันท่วงที
"โครงการระบบคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการท้าทายไทย (Grand Challenges Thailand) เรื่อง เป็น 1 ใน 4 แพลตฟอร์มสำคัญ ซึ่ง อว. ได้มอบหมายให้ วช. ขับเคลื่อน และขยายผลต่อยอดจากแผนงานวิจัยท้าทายไทยเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควัน สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การสร้างนวัตกรรม และรูปแบบธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป" ดร. สุวิทย์ กล่าวในที่สุด
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.