24 ตุลาคม 2562 – นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและและนวัตกรรม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติและพิธีรับโล่พระราชทานอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ในการประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัยระดับชาติของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ประจำปี พ.ศ. 2562 เรื่อง “อนาคตอุดมศึกษาไทยภายใต้บริบทโลก (The Future of Thai Higher Education in Global Context)” และการประกาศเกียรติคุณผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ณ เดอะ ไทด์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี
ในการประชุมฯ มีการบรรยายจากวิทยากรหลายหัวข้อ อาทิ “ระบบและกลไกในการขับเคลื่อนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษา” “อุดมศึกษากับการวิจัย ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์สังคม “ธรรมภิบาล : ปัญหาและทางออก” และ “วางแผนการเงินอย่างไรให้อยู่ได้หลังเกษียณ” รวมทั้งการนำเสนอผลงานวิจัยแบบวาจาและแบบโปสเตอร์จำนวนกว่า 80 ผลงาน มีจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 400 คน สำหรับในปีนี้ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้ดำเนินการสรรหาและคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ในระดับอุดมศึกษาที่มีผลงานโดดเด่นด้านการสอนและการถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ และเข้ารับโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีผลการคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2562 ดังนี้
อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย
อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ
อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.ปุณณรัตน์ พิชญไพบูลย์
อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา
อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ สาขารับใช้สังคม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุชน ตั้งทวีวิพัฒน์
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานว่า ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้กล่าวเสมอว่า อว. เป็นกระทรวงแห่ง ปัญญา โอกาส และอนาคต มีภารกิจสำคัญ 3 ด้าน คือการสร้างและพัฒนาคน การวิจัยและสร้างองค์ความรู้ การสร้างและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งพวกเราทุกส่วนต้องช่วยกันขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงกัน เพื่อชี้นำสังคมและตอบโจทย์ประเทศอย่างรู้จริงผ่านการวิจัย ดังเช่นที่สภาอาจารย์ดำเนินการตลอดมา
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาและปรับตัว เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก เป็นสิ่งที่ท้าทายศักยภาพของมหาวิทยาลัยว่าจะสามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และพัฒนาตนเองอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ทราบว่า ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ในฐานะที่เป็นองค์กรเครือข่ายหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และได้ร่วมกับสภาคณาจารย์และพนักงาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2562 เรื่อง “อนาคตอุดมศึกษาไทยภายใต้บริบทโลก (The Future of Thai Higher Education in Global Context)” ในวันนี้น่าจะเป็นเวทีให้บุคลากรทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองปัญหาการอุดมศึกษาใหม่ นำไปสู่การเตรียมความพร้อมและสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน อีกทั้ง การประชุมวิชาการครั้งนี้ ยังเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานด้านการวิจัยของคณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา และมีการประกาศรางวัลผลงานด้านการวิจัย ซึ่งต้องขอแสดงความชื่นชมรางวัลผลงานด้านวิจัยที่มีความหลากหลายสาขา ครบถ้วนตามภารกิจของกระทรวงเรา ที่สำคัญ ปอมท. ยังเชิดชูเกียรติให้แก่อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาได้รับรางวัล “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” รางวัลโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อันเป็นเกียรติยศแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลและคณะผู้ดำเนินการจัดการประชุมอย่างหาที่สุดมิได้
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เฉพาะบริบทโลกที่ท้าทายศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการปรับตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เท่านั้น แต่ในบริบทของกระทรวงใหม่ที่ กพร. ยกให้กระทรวง อว. เป็นต้นแบบของการปฏิรูประบบราชการ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ทุกท่านต้องเผชิญอย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูประบบบริหารจัดการ การปฏิรูประบบงบประมาณ และการปฏิรูปกฎ ระเบียบ ต่างๆ ปลดล็อคข้อจำกัดของการอุดมศึกษา
“เรื่องการปฏิรูประบบบริหารจัดการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนั้น โดยโครงสร้างกระทรวงใหม่จะมีสภานโยบาย มี สอวช. มี สป.อว. มี สกสว. มี วช. และ PMU หน่วยบริหารแผนงานวิจัย เป็นหน่วยงานที่ท่านทั้งหลายอาจจะยังไม่คุ้นชินเท่าใดนัก แม้แต่ตัวหน่วยงานเองก็ต้องปรับบทบาทตัวเองให้สอดคล้องกับภาระกิจใหม่ และการวิจัยแนวใหม่เพื่อตอบโจทย์ประเทศในลักษณะ Platform based/ Flagship programs ในปีงบประมาณ 2563 เราได้รับงบประมาณวิจัยประมาณ 8,400 ล้านบาท นั้น คาดว่าจะนำไปจัดสรรใน 4-5 Platforms และ 16 Flagship programs ซึ่งหาก วช. มาบรรยายท่านก็คงมาพูดในฐานะ PMU หนึ่งที่ (ดูแลบริหารงานวิจัยชุด Grand Challenges ที่ครอบคลุม ความยากจน / PM 2.5/ Aging/ Zero waste etc) ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 นี้ กระทรวงได้เชิญอธิการบดี รองอธิการฝ่ายแผน ฝ่ายวิจัยจากมหาวิทยาลัยทุกแห่งมาทำความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการงบวิจัยผ่าน PMU และแนวทางการเสนองานวิจัยในแต่ละ Platforms ซึ่งมหาวิทยาลัยในกำกับหลายแห่งร้องว่าไม่ได้งบวิจัยในปี 2563 เลย คราวนี้จะได้เข้าใจ จะได้รับการจัดสรรคืนและมาช่วยกันทำงานบน Platforms ตอบโจทย์ประเทศและเตรียมทำงบประมาณ ปี 2564 ต่อไป ท่านรัฐมนตรีฯ ต้องการให้คิดเป็นแบบ Multi yr budgeting คือ คิดควบปี 64-65-66 ไปพร้อมกัน ส่วนเรื่องการปลดล๊อคกฏระเบียบเรื่องแรกที่ได้ประกาศไปคือ มคอ. ซึ่งโดยนโยบาย อว. จะเน้นดำเนินการตาม มคอ.1 และ มคอ.2 ส่วนที่เหลือตั้งแต่ มคอ.3-7 ให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกันการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ การยกระดับคุณมาตรฐานของการอุดมศึกษาใช้พัฒนาไปตามศักยภาพโดยกำหนด OKR ที่ชัดเจน เพื่อ Reprofile มหาวิทยาลัยให้ชัด จะเป็นมหาวิทยาลัยไปสู้โลก จะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ หรือเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการแข่งขันด้วยนวัตกรรม และที่ รมว.อว. ให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องธรรมาภิบาล การให้อิสระความคล่องตัวแก่อุดมศึกษาบนฐานของความรับผิดชอบต่อผลของการดำเนินงานด้วยความโปร่งใส” เลขานุการรัฐมนตรีฯ กล่าวในตอนท้าย
เจษฏา วณิชชากร : ถ่ายภาพ
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เขียนข่าว/เผยแพร่
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักอำนวยการ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา โทร. 0-2039-5606-9 facebook.com/opsMHSRI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.