วันที่ 3 ธันวาคม 2562 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติร่วมบรรยายพิเศษเรื่องอุดมศึกษาในอนาคต ภายในงาน “The Rockefeller Foundation Rich Legacy and Future Strategy” จัดโดยมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์สำนักงานภูมิภาคเอเชียประจำประเทศไทย ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า ในโลกศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงและท้าทายอย่างสูง ทำให้ต้องมีการปรับตัวและและคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในทุก ๆ เรื่อง เช่น การศึกษา การเกษตรและสาธารณสุข เป็นต้น เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์โลกในอนาคตได้ ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นคือการสร้างแบบแผนแนวคิดรูปใหม่ (New Metal Model) เพื่อปรับกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตในปัจจุบัน โดยการความเข้มแข็งจากภายใน (Strength from Within) ก่อนที่จะเชื่อมโยงสู่ระดับประชาคมโลก (Connect to the World) ในอนาคต และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs) ซึ่งต้องอาศัย BCG Model หรือการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) พร้อมใช้กลไกของมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างประเทศด้วย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับประโยชน์ของ BCG Model เช่น ในภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับคนมากกว่า 12 ล้านคน แต่มากกว่า 90% ของพื้นที่เพาะปลูกของประเทศไทยปลูกพืชเพียง 6 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และปาล์มนํ้ามัน ซึ่งเป็นสินค้าที่รัฐต้องเข้าไปอุดหนุนทุกปี ดังนั้น การยกระดับผลผลิตทางการเกษตรจำเป็นสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่ม โดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการควบคุมการผลิตให้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลของวัตถุดิบการเกษตรให้สูงขึ้น
ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว พบว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยมากกว่า 35 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก แต่รายได้กระจุกตัวอยู่เพียง 8 จังหวัด ทําให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเสียหายกระทบต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและเกิดการแย่งชิงทรัพยากรจากคนในพื้นที่ จึงต้องมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้กระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรองและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ให้สามารถเชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศ
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายจิรายุ รุจิพงษ์วาที
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3727 – 3732 โทรสาร 0 2333 3834 Call Center : 1313
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.