สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ สร้างเกษตรกรไฮเทค/ ชุมชนต้นแบบ 13 กลุ่ม ในพื้นที่จังหวัดเลย สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ และเป็นต้นแบบในการนำเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ได้จริง สร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ดอกไม้ประดับ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ไม้ดอกไม้ประดับถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นอย่างเช่น อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูกเลี้ยงและส่งออกไม้ดอกไม้ประดับเป็นจำนวนมาก และมีระยะเวลาการปลูกเลี้ยงยาวนาน รวมทั้งมีการปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ชนิดเดิม ๆ ทำให้ผลผลิตราคาจำหน่ายคงที่และมีราคาตกต่ำลง ด้วยตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมการเกษตรสร้างสรรค์ ภายใต้การดำเนินโครงการการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovative Agriculture : InnoAgri) นำองค์ความรู้ วทน. การพัฒนาพันธุ์ไม้ชนิดใหม่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้กับเกษตรกรและชุมชน เพื่อสร้างสินค้าเกษตรชนิดใหม่ตามศักยภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ พื้นที่จังหวัดเลย พร้อมยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกไม้ประดับให้เป็นเกษตรกรไฮเทค (InnoAgri farmer) ที่สามารถนำ วทน. ที่เหมาะกับยุคสมัยไปใช้สำหรับลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้ยั่งยืน
“...วว. ดำเนินงานโครงการ InnoAgri เพื่อนำผลงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรของประเทศ ซึ่งการพัฒนาประเทศที่ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนั้น สอดคล้องกับทิศทางของประเทศไทย 4.0 ภายใต้แนวทางการปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบเดิม (Traditional Farming) ซึ่งใช้แรงงานเป็นหลักไปสู่การพัฒนาด้วยระบบบริการจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Smart Farming) มุ่งเน้นการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ผลสำเร็จในการดำเนินงานของ วว. ในพื้นที่จังหวัดเลย จะเป็นต้นแบบการส่งเสริมโดย วทน. ให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า วว. ได้นำงานวิจัยไปถ่ายทอดเพื่อเพิ่มองค์ความรู้และพัฒนาการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับสร้างรายได้ให้กับชุมชน ในพื้นที่ให้ยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้กรอบการดำเนินงานขององค์ความรู้ วทน. จำนวน 6 ด้านหลัก ดังนี้
1. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ในการขยายพันธุ์พืชจำนวนมาก สามารถลดต้นทุนในการผลิตต้นกล้าพันธุ์ได้
2. การจัดดอกไม้เป็นของขวัญ เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้ดอกไม้ประดับที่มีการปลูกเลี้ยงและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่ม
3. การแปรรูปและพัฒนาชาดอกไม้จากพันธุ์ไม้ที่มีการปลูกเลี้ยง เช่น กาแฟ ดาวเรือง และพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่
4. การทำภาชนะปลูกจากวัสดุในท้องถิ่น เช่น ดินเหนียว ฟางข้าว และกก พัฒนาเป็นภาชนะสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
5. การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีระดับครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนในการจัดซื้อปุ๋ยเคมี ประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติมาทำปุ๋ยหมัก
6. การป้องกันโรคและแมลง เพื่อหาวิธีป้องกันจากศัตรูพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแมลงหวี่ขาว เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ
นอกจากนี้ วว. ได้ร่วมพัฒนากลุ่มเกษตรกรไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 13 กลุ่ม ดังนี้
1. การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเบญจมาศ จำนวน 4 กลุ่ม ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเบญจมาศสายพันธุ์ที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการวิจัยของ วว. ซึ่งมีจุดเด่นของพันธุ์คือ ดอกสวย สีสดเด่น ทรงพุ่มสวย บางชนิดมีศักยภาพต้านทางโรคราสนิม มากกว่า 44 สายพันธุ์ เพื่อพัฒนาเป็นไม้ตัดดอก และไม้ดอกในกระถาง
2. การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงลิเซียนทัส จำนวน 2 กลุ่ม ส่งเสริมและทดลองปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส ในรูปแบบไม้กระถาง เพื่อเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้สีสันใหม่ ๆ และเป็นพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ที่จะเริ่มมีการปลูกเลี้ยงในพื้นที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ตั้งแต่กระบวนการเพาะเมล็ด การดูแลรักษา จนกระทั่งสามารถออกดอก
3. การพัฒนากลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงเยอบีร่า จำนวน 1 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาพรรณไม้เยอบีร่าสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย และเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบชนิดใหม่ เพื่อผลิตเชิงการค้าให้กับกลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดอก โดยเน้นการลดต้นทุนจากต้นแม่พันธุ์ และการเพิ่มมูลค่าจากดอกสีสันใหม่ ๆ
4. การพัฒนาระบบการขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับด้วย วทน. จำนวน 1 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชระดับชุมชนสำหรับขยายสายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับ จำหน่ายต้น พันธุ์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการช่วยลดราคาต้นทุนผลผลิตให้กับเกษตรกร
5. การพัฒนาการแปรรูปชาจากดอกไม้ จำนวน 3 กลุ่ม พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูปและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ชาดอกกาแฟ เพื่อยกระดับสินค้าชุมชน ชาจากพืชสมุนไพรธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ต้นเนียม อ้ม และไม้ดอกพื้นบ้าน โดยวิเคราะห์ตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการของชา เพื่อปรับปรุงสูตรและออกแบบรูปแบบโลโก้ผลิตภัณฑ์เพื่อสินค้า
6. การพัฒนาภาชนะปลูกจากธรรมชาติ จำนวน 2 กลุ่ม วิจัยและพัฒนาภาชนะปลูกเลี้ยงไม้กระถางเพื่อจำหน่ายและยกระดับสินค้าไม้ประดับของชุมชนให้มีลักษณะโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ วว. ได้พัฒนาเกษตรกรชุมชนต้นแบบด้านการผลิตพืช ปุ๋ย ภาชนะปลูกจากวัตถุท้องถิ่น การแปรรูปไม้ดอก และแบบผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม จำนวน 2 ชุมชน ได้แก่
เกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับแปลงใหญ่ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย วิจัยและพัฒนา ส่งเสริมการปลูกเลี้ยงเยอบีร่าสายพันธุ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการส่งออก พัฒนาและส่งเสริมการปลูกเลี้ยงต้นลิเซียนทัส สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรด้านการจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับทางเลือก อีกทั้งยังส่งเสริมการปลูกเลี้ยงต้นเบญจมาศด้วย
เกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านแก่งไฮ ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย วว. ส่งเสริมการปลูกเลี้ยงไม้ใบ เช่น หน้าวัวใบ บิโกเนีย และพืชสกุลอโกลนีมา รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปดอกไม้เพื่อเป็นสบู่ สร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรชุมชนต้นแบบ
โครงการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดังกล่าว เป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตร ชุมชม ให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ช่วยเสริมรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมการส่งเสริมพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ของ วว. หรือการส่งเสริมพัฒนาด้านการเกษตรสาขาอื่นๆ ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th www.tistr.or.th Line@tistr>
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.