กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมสนับสนุนเยาวชนไทยต่อยอดกิจกรรม Space Experiment Ideas Contest 2019 หรือ SEIC เข้าร่วมการแข่งขัน The Mission Idea Contest หรือ MIC ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. 62 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 62 ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรม MIC จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้านการทดลองในอวกาศระดับสากล โดยเป้าหมายหลักของ MIC คือการเปิดประตูสู่มุมมองใหม่ของการสำรวจอวกาศและการใช้ประโยชน์จากอวกาศในปี 2562 มีทีมที่ผ่านการตัดเลือกการแข่งขันจากทั่วโลก ทั้งหมดจำนวน 6 ทีม ซึ่ง 1 ในนั้นมีทีมจากประเทศไทยด้วย โดยเสนอไอเดียงานวิจัย “Technology Demonstrate of Bone-Loss-Reducing Bacteria Culture for Deep Space” มีวัตถุประสงค์ (1) ใช้ผลการทดลองที่ได้มาพัฒนา Lactobacillus reuteri ให้กลายเป็น Probiotic Food เพื่อใช้กับนักบินในอวกาศ,กลุ่มผู้ สูงอายุ และสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าบุคคลอื่น (2) เพื่อนำผลการทดลองมาศึกษาต่อเรื่อง ผลของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) และคลื่นรังสีต่างๆ (Radiated Condition) ต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย (3) เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของแบคทีเรียที่เลี้ยงในอวกาศโดยอาหารเหลว (Broth Medium) และวุ้นเลี้ยงเชื้อ (Agar Medium) และ (4) เพื่อนำผลการทดลองไปพัฒนาวิธีการเลี้ยงแบคทีเรียในอวกาศ
โดยตัวแทนเยาวชนไทยที่นำเสนอไอเดีย คือ นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล (ชนะเลิศอันดับที่ 3 จากกิจกรรม SEIC 2019) และ คุณจุลินทิพย์ พุทธวงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ชนะเลิศอันดับที่ 1 จากกิจกรรม SEIC 2019) ซึ่งทั้งคู่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนคนไทยอย่างเต็มที่ และได้พิสูจน์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
สำหรับผลการตัดสินปรากฏว่า
- ทีมชนะเลิศลำดับที่ 1 ผลงาน “MUSA: An ISS Experiment for research of a dual culture for Panama Disease” จาก สถาบันเทคโนโลยีคอสตาริกา สาธารณรัฐคอสตาริกา
- รางวัล Student Prize ได้แก่ ผลงาน “MARGE Melanoma Apoptosis Reduced Gravity Experiment” จาก มหาวิทยาลัย Sapienza ประเทศอิตาลี
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับรางวัลใด ในการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจและการทำงานร่วมกันของคนไทยด้านอวกาศ และเป็นอีกก้าวหนึ่งของคนไทยที่ทำให้เห็นถึงความตระหนักในการใช้ประโยชน์จากอวกาศ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.