ผ่านไปแล้วกับกิจกรรมส่งท้ายปีของ AgTech Startup ในงานรวมพล AgTech Startup ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา จัดโดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร หรือ ABC Center สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) งานนี้นำโดย คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม กล่าวถึง สถานการณ์ของ AgTech Startup Ecosystem 2019 ในปัจจุบันนับว่า ระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของไทยหรือสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (Agtech Startup Ecosystem) มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น จะเห็นได้จากหลาย ๆ ภาคส่วน เช่น หน่วยงานภาครัฐมีโปรแกรมในการบ่มเพาะ (Incubation) และเร่งสร้าง (Acceleration) รวมถึงกลไกด้านการสนับสนุนด้านการเงินให้กับสตาร์ทอัพ
นอกจากนี้ภาคเอกชน นักลงทุน ร่วมมือจัดโปรแกรมพัฒนาสตาร์ทอัพภายในบริษัทขึ้น (Internal Startup) รวมทั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพด้านการเกษตร (AgTech startup) มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ดีของการสนับสนุนสตาร์ทอัพเกษตรในประเทศไทย โดยภายรวมในปีนี้จากการรวบรวมของ ABC Center พบว่าประเทศไทยมีจำนวน AgTech Startup กว่า 50 บริษัท จัดอยู่ในกลุ่มของ Digital, Service, Process, Robotic, Biotech, Post & Logistic และ Biorefinary ตามลำดับซึ่งบางกลุ่มยังต้องมุ่งเน้นและพัฒนาให้เพิ่มขึ้นและธุรกิจต้องมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) เขามาเป็นแก่นของธุรกิจ (Core Business) มากขึ้น ซึ่งคุณมณฑา เผยว่าในปี 2563 นี้เทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) จะถูกนำมาใช้เป็นแกนหลักในการพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร และยังมีโปรแกรมอื่น ๆ ในการพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรเพื่อเร่งสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงและเตรียมประเทศไทยให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น
นอกจากการสรุปภาพรวมของสตาร์ทอัพด้านการเกษตรแล้ว ไฮไลท์ครั้งนี้คือการได้รับเกียรติสุดพิเศษจากทีมบริษัท อัลจีบา (Algaeba) นำโดย คุณกันย์ กังวานสายชล (Founder) คุณเจษนุวัฒน์ ด่านลาพล (COO) และ คุณบดินทร์ ชีวธนากรณ์กุล (CTO) มาร่วมแชร์ประสบการณ์การเข้าร่วม “HATCH BLUE-THE WORLD’S FIRST ACCELERATOR PROGARM FOR AQUACULTURE” Acceleration ใน batch ระดับโลกที่มุ่งเน้นด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งอัลจีบา (Algaeba) เป็นสตาร์ทอัพไทยรายเดียวในประเทศที่ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมโปรแกรม โดยภาพรวมในการเข้าร่วมโปรแกรมคือ การได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการได้เดินทางไปถึง 3 ประเทศ รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ และสิงคโปร์ ทำให้ได้เห็นความแตกต่างด้านเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้งานจริงๆ รวมถึงการมองเห็นโอกาสในการกลับมาพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ และอีกอย่างที่ประทับใจคือ การที่ได้ร่วมพูดคุยกับนักลงทุนชื่อดังที่สนใจในการลงทุนด้านนี้จริงๆ โดยคุณกันย์ได้ฝากประเด็นสำคัญ ถึงสตาร์ทอัพและกลุ่มคนที่เริ่มสนใจทำสตาร์ทอัพ คือ
1. การหาลูกค้ากลุ่มแรกให้เจอ Persona ของลูกค้าต้องชัดเจน
2. ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ต้องทำให้ง่าย ใช้งานให้ง่าย ไม่ต้องมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก
3. การที่จะเลือกเข้า Incubation หรือ Acceleration ให้ดูที่ความต้องการของเราเป็นหลักว่าเราอยากได้อะไรจะการเข้าร่วมในครั้งนั้น เพราะแต่ละ Incubation และ Acceleration มีความแตกต่างกัน ดังนั้นเลือกให้ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาทั้งคนจัดและผู้เข้าร่วม
นอกจากนี้ขอบอกเลยว่าไม่ได้แค่เข้าร่วมโปรแกรม บริษัทอัลจีบายังได้รับรางวัลติดมือกลับมาด้วย ได้แก่ รางวัล The Most Investible Company หรือรางวัล บริษัทที่น่าลงทุนที่สุด ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับเสียงโหวตจากผู้เข้าร่วมงานมากที่สุด โดยภายในวัน Demo day นั้น มีนักลงทุนและบริษัทใหญ่ ๆ มากมาย ถือว่าไม่น้อยหน้าสำหรับ AgTech Startup ไทย สนช.ขอชื่นชมและจะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตต่อไป ขอบอกเลยว่างานนี้ผู้เข้าร่วมงานได้รับการถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรง เนื้อหาแบบอัดแน่นจากทีมอัลจีบาแถมยังได้รับแรงบันดาลใจและเครือข่ายกลับไปด้วย
ในปี 2563 สนช. โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรของไทยต่อไป เพื่อเป้าหมายที่สำคัญคือการ พลิกโฉมภาคการเกษตร (AgTech Transformations) ของประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำที่สำคัญด้านนวัตกรรมการเกษตรในระดับเอเชียและในระดับโลกต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.