ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (มกส.) ลงนามความร่วมมือด้านงานวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร รวมถึงความร่วมมือด้านวิชาการและการพัฒนานักศึกษา ประกอบด้วย 1.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เกษตรเพื่อรองรับการเกษตรสมัยใหม่ เช่น การจัดการข้อมูลการผลิต การจัดการดิน น้ำ ปุ๋ย การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อ การเจริญเติบโตของพืช การบริหารศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น 2.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การสร้างมูลค่าแก่วัตถุดิบหรือของเหลือทิ้งจากกระบวนการ เป็นต้น 3.การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอื่นๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน 4.การให้ความร่วมมือในการเผยแพร่ผลงานและให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5.การให้ความร่วมมือด้านวิชาการสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาและนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 6.การแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อการพัฒนางานด้านการวิจัยและพัฒนาของ วว. และการเรียนการสอนของ มกส. และ 7.การเข้าร่วมโครงการยุวชนอาสาและอาสาประชารัฐ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาระดับปริญญาตรี โทและเอก ตามนโยบายดำเนินงานโครงการยุวชนสร้างชาติของกระทรวง อว. โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. พร้อมผู้บริหาร พนักงาน ของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันที่ 14 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมผู้บริหาร อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
“...วว. มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก เน้นการทำงานกับชุมชน โดยมีแนวคิดนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเผยแพร่ศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวง อว. ในการดำเนินโครงการยุวชนสร้างชาติ ที่มีการเปิดตัวเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนนำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่ ทั้งนี้ วว. มีการทำงานกับชุมชนผ่านโครงการ Big Rock ที่มีการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ชุมชนและภาคเอกชนในพื้นที่ นำโจทย์ของพื้นที่เป็นที่ตั้งในการดำเนินงานต่อยอด นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมถ่ายทอดให้กับกลุ่มชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ มีการนำไปใช้ประโยชน์เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ในอนาคต วว. และ มกส. จะขยายความร่วมมือไปสู่สาขาอื่นๆต่อไป ภายใต้กรอบโมเดลที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ สร้างเด็กรุ่นใหม่ให้เป็นพลังสำคัญของประเทศ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า มกส. มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการพัฒนาชุมชนของประเทศ สร้างกาฬสินธุ์โมเดลเป็นเมืองนวัตกรรมการเกษตรและสอดคล้องตามนโยบายขับเคลื่อนโครงการยุวชนสร้างชาติซึ่งนำร่องที่จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นแห่งแรก ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้การดำเนินงานโครงการดังกล่าวมีความเข้มแข็ง สำเร็จเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้น วว. จะมีพื้นที่ดำเนินการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเข้าไปพัฒนาและต่อยอดมากขึ้นผ่าน 3 โครงการพัฒนาชุมชนของ มกส. ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาโคนม โคเนื้อคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้แรงงาน มีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม 2.โครงการ Smart Farm และ 3.โครงการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเกษตรก้าวหน้า เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองดำเนินงานของเกษตรกรทั่วประเทศ ก่อนที่จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในการประกอบอาชีพต่อไป
“...การนำเทคโนโลยีที่ไฮเทคหรือล้ำมากไปให้กับเกษตรกรนั้นจะทำให้ประสบผลสำเร็จได้ยาก แต่หากเรานำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปถ่ายทอดให้ ผ่านการเชื่อมต่อความรู้โดยบุคลากร เช่น นักศึกษา จะทำให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ในอนาคต มกส. มีแผนงานให้บุคลากร เช่น อาจารย์ ได้มาฝังตัวทำงานใกล้ชิดกับบุคลากร วว. จะทำให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวคิดระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น...” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าว
นางสาวชลิตา พูลเลิศ นางสาวศิริพร เมืองแพนและนายนฤเบศ ประจักษ์จิตร นักศึกษาคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นนักศึกษาฝึกงานสหกิจศึกษา ณ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ด้านการขยายพันธุ์/ปรับปรุงพันธุ์พืช ดินและปุ๋ย การทดสอบวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดิน กล่าวถึงประสบการณ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานจริงที่ วว. ว่า ได้เรียนรู้ระบบการทำงานร่วมกัน ได้ฝึกทักษะด้านการขยายพันธุ์พืช ฝึกทักษะในห้องปฏิบัติวิเคราะห์ดิน ได้รู้จักชื่อและลักษณะของพืชชนิดใหม่และได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระหว่างการทำงาน ซึ่งเป็นความรู้ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.