ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะผู้แทน วว. เป็นประธานเปิดโครงการอบรมสัมมนาการวิเคราะห์ความต้องการของชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคเหนือ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้สู่ชุมชนและขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่งผลต่อการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สูงขึ้น
โดย วว. นำ 15 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีข้าว ปุ๋ย พลังงาน ระบบการควบคุมอัตโนมัติและเครื่องจักรแปรรูปอาหาร รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. อาทิ การเพิ่มคุณภาพผลผลิตส้มเกลี้ยง ชาเลือดมังกร การยืดอายุไข่เค็ม เครื่องหยอดข้าวนาน้ำตม เครื่องบดแป้งกล้วย เครื่องสไลด์กล้วย เครื่องสลัดน้ำมัน เครื่องคัดแยกขนาดเมล็ดกาแฟ เครื่องทำแท่งเพาะชำจากมูลไส้เดือน เตาเผาถ่านกัมมันต์ โดมอบพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบให้น้ำอัตโนมัติ เครื่องตัดหญ้าแพงโกล่า เป็นต้น นำมาจัดแสดงนิทรรศการพร้อมโชว์สาธิตการทำงาน เพื่อเชื่อมโยงการร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และความต้องการนวัตกรรมในชุมชนระหว่าง วว. และกลุ่มเป้าหมาย ผ่านเครือข่ายความร่วมมือและพันธมิตร จากการดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 นวัตกรรมเกษตร โครงการยกระดับโอทอปในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจน โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอทอป เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของชุมชนของไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลกต่อไป ในวันที่ 16 มกราคม 2563 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
"...วว. ให้ความสำคัญในการนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ถ่ายทอดสู่ชุมชน โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงบริการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งบริการวิเคราะห์/ทดสอบ สอบเทียบ การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสร้างนวัตกรรมด้านต่างๆ..." ดร.รจนา ตั้งกุลบริบูรณ์ กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.