อว.โชว์ผลงาน “การปฏิรูปอุดมศึกษาแบบพลิกโฉมอุดมศึกษาไทย” วางแนวทางขับเคลื่อนและติดตามนโยบายด้านอุดมศึกษา ของ รมว.อว. เป็นรูปธรรมได้ใน 6 เดือน ด้วยการแบ่งเป็น 3 กลุ่มสถาบันเชิงยุทธศาสตร์ด้วย 7 กิจกรรม ที่จะยกระดับมหาวิทยาลัยไทย โดยวางกรอบวงเงินพัฒนาไว้ 10,250 ล้านบาท ในปี 64 พร้อมเตรียมเสนอปรับเกณฑ์ตำแหน่งทางวิชาการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัย และปลดล็อกข้อจำกัดเตรียมเสนอยกร่างเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาฉบับใหม่
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยประธานคณะทำงานชุดย่อย ร่วมกันแถลงผลงานการขับเคลื่อนและติดตามนโยบาย รมว.อว.เพื่อการปฏิรูปอุดมศึกษาแบบพลิกโฉมอุดมศึกษาไทย ต่อสื่อมวลชน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน อาคารอุดมศึกษา 1 สป.อว.ถนนศรีอยุธยา ว่า คณะทำงานฯ เริ่มศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและระดมแนวคิดและความเป็นไปได้ ภายใต้กฎหมายอุดมศึกษาเพื่อปฏิรูปการอุดมศึกษาไทยอีกครั้งในยุคการผันผวนของเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.จะสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการพลิกโฉมอุดมศึกษาเพื่อการเรียนการสอนการวิจัยแนวใหม่ ที่ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 ปรับปรุงเกณฑ์ในการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัย และปลดล็อกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ รวมถึงเกณฑ์หลักสูตรใหม่ เพื่อความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีฯ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาแนวทางเพื่อการปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหม่ จะมีการทำงานใน 2 เรื่องหลักๆ คือ 1. การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทย จะมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน เป็นประธานคณะทำงานย่อย และ 2. การปลดล็อคข้อจำกัดของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะมี 2 ประเด็นหลักที่ต้องเข้าไปปรับเปลี่ยนคือการดำเนินงานเพื่อปลดล็อกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแหงชาติ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน เป็นประธานคณะทำงานย่อย และการปรับตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัย ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ เป็นประธานคณะทำงานย่อย นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาเรื่องเครือข่ายอุดมศึกษานานาชาติและธรรมาภิบาลของระบบอุดมศึกษา ซึ่งการศึกษาแนวทางปรับเปลี่ยนมีความคืบหน้าไปมากและจะนำเสนอต่อสาธารณชนในโอกาสต่อไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนทั้งหมดนี้จะเป็นหนทางไปสู่การปฏิรูปอุดมศึกษาครั้งใหม่ที่จะพลิกโฉมการอุดมศึกษาไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน ประธานคณะทำงานย่อยชุดศึกษาแนวทางการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูปอุดมศึกษาในแบบพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนแบบพลิกโฉมนี้จะเน้นการปรับตัวที่ต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และการปฏิรูประบบอุดมศึกษาโดยส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาให้กำหนดทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Focus) เพื่อรองรับการสร้างผู้ประกอบการและสร้างโอกาสสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศและเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาได้ใช้ความสามารถและศักยภาพอย่างมีประสิทธิภาพ ใน 3 กลุ่มมหาวิทยาลัย คือ กลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) ซึ่งมีโจทย์วิจัยที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติและติดอันดับโลกได้ กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology/ Innovation) ที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างผู้ประกอบการและต่อยอดสู่ SMEs สตาร์ทอัพ เพื่อไปพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป และ กลุ่มการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based and Community) ที่จะยกระดับสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ไปเติมเต็มศักยภาพในพื้นที่ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ผสมผสานกับภูมิปัญญญาไทย โดยจะขับเคลื่อนด้วยระบบงบประมาณด้านการอุดมศึกษาตามมาตรา 45(3) แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ภายใต้กรอบวงเงิน 10,250 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564 ด้วย ๗ กิจกรรม ในโครงการ คือ 1.ปฏิรูประบบบริหารจัดการ กำกับดูแล และพัฒนาระบบอุดมศึกษาในภาพรวมให้ตอบโจทย์ประเทศ 2.ปฏิรูปกลไกการเงินและงบประมาณการอุดมศึกษา 3. พัฒนาและปรับปรุงระบบนิเวศให้เอื้อต่อการผลิตและพัฒนาบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง 4. วางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาและความต้องการในการพัฒนาประเทศ 5. ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา เสริมสร้างความรู้และทักษะทางอาชีพให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 6. พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา และ ๗. สร้างเสริมและการเคลื่อนย้ายบุคลากรศักยภาพสูงเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน
ศาสตราจารย์ ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะทำงานย่อยเกี่ยวกับตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้าทางวิชาชีพของนักวิจัยกล่าวว่า ได้มีการเสนอปรับเกณฑ์ใหม่โดยคำนึงถึงหลักการด้านคุณภาพทางวิชาการในระดับสากล ลักษณะผลงานที่เป็นรูปธรรม มีประโยชน์ในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ ความร่วมมือและการโยกย้ายกำลังคนทางวิชาการรวมถึงความชัดเจนของการตัดสิน โดย 1.มีการยกเลิกเปอร์เซ็นต์สัดส่วนผลงานพร้อมทั้งปรับแบบแสดงหลักฐานการมีส่วนร่วมในผลงาน 2.การเสนอขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และแพทยศาสตร์ มีช่องทางเพิ่มเติมคือผู้ขอสามารถเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ 3.มีการปรับลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการจากระดับดี ดีมากและดีเด่น เป็นระดับ B, B+, A และ A+ และคำนึงถึงคุณภาพระดับนานาชาติด้วย4.ปรับเกณฑ์โดยให้คำนึงถึงคุณสมบัติทางวิชาการของผู้ขอตำแหน่ง 5.เพิ่มรูปแบบผลงานด้านการสอนที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 6.จัดทำคู่มือแนะนำในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลในระบบอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัย ในการเทียบโอนตำแหน่งวิชาการ 7.จัดทำ Application สำหรับสืบค้นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการ พร้อม update ฐานข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการ ซึ่งคณะทำงานฯ จะเสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ทันที หลังโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.พ.อ. แล้ว
ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ประธานคณะทำงานย่อยเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อปลดล็อกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า คณะทำงานได้ร่วมกับ สป.อว.กลุ่มภารกิจด้านการอุดมศึกษา หรือ สกอ.เดิม ดำเนินการตามนโยบายและแนวทางที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะการผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับยุคสมัย ภายใต้แนวคิดของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นความหลากหลายต่อประเภทของสาขาวิชา หรือกลุ่มของมหาวิทยาลัยตามนโยบายการปฏิรูประบบอุดมศึกษาของรัฐบาล (Reinventing University) รวมทั้งลดความยุ่งยากในการนำไปปฏิบัติ ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานให้สะท้อนคุณภาพในองค์รวม โดยการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถออกแบบหลักสูตรได้ตามศักยภาพของแต่ละสถาบัน และตอบโจทย์มาตรฐานการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน โดยได้จัดให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการปรับปรุงกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาและเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา รวมทั้งได้มีการปรับปรุงแก้ไข (ร่าง) เกณฑ์ฯ ตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานการอุดมศึกษา และคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อประกาศใช้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาฉบับใหม่ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา และยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงแนวทางบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาให้สอดรับกับเกณฑ์ฯ ดังกล่าว รวมทั้งการพัฒนากระบวนการรับทราบหลักสูตรทางระบบออนไลน์ และการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตร การ re-vision มคอ.1 เดิม ในสาขาที่ไม่มีสภาวิชาชีพกำกับ การประเมินแบบ post-audit ระดับหลักสูตรที่ครอบคลุมรูปแบบการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย เป็นต้น
“รัฐบาลมีนโยบายให้สถาบันอุดมศึกษาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 คณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมรวมทั้งคณะทำงานชุดย่อยทั้ง 5 ชุดเปรียบเสมือนตัวแทนชาวอุดมศึกษาที่จะร่วมกันปฏิรูปการอุดมศึกษาของประเทศอีกครั้ง รวมทั้งแสวงหาแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการอุดมศึกษาไทยเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินภารกิจด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล นำการอุดมศึกษาไทยไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในตอนท้าย
วีนัส แก้วประเสริฐ : ถ่ายภาพ
อินทิรา บัวลอย : ภาพวีดีโอ
ปิยาณี วิริยานนท์ : เขียนข่าว
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เผยแพร่ข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ โทร. 02 039 5609
facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.