‘แบรนด์ตะขาบห้าตัว’ ผู้ผลิตยาอมลูกกลอนแก้ไอชื่อดัง ซึ่งได้รับความนิยมจากคนไทยมากว่า 80 ปี ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ‘ยาแก้ไอแบบสเปร์ยพ่น’ ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายใน 14 ประเทศ เตรียมเปิดตัวแล้วในไตรมาสแรกปี 2563
ดร.กอบกุล เหล่าเท้ง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค สวทช. เปิดเผยว่า ‘สเปรย์แก้ไอตราตะขาบห้าตัว’ เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาโดย ไบโอเทค ซึ่งอาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวกระบวนการอุตสาหกรรม (Industrial bioprocess technology) และเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ยับยั้งจุลชีพ มาพัฒนาเป็นตัวยารูปแบบใหม่ที่คงสูตรตัวยาสมุนไพรเดิม จากการทดสอบพบว่า สเปรย์แก้ไอมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์เทียบเคียงยาอมสูตรลูกกลอน สามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุอาการคออักเสบ (Pharyngitis) ได้มากกว่า 99.9 เปอร์เซ็นต์ ภายในเวลา 5 นาที
“ทั้งนี้แม้การวิจัยเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รูปแบบของผลิตภัณฑ์ยา ไปจนถึงกระบวนการผลิต แต่บริษัทและคณะวิจัยยังคง ‘ความซื่อสัตย์’ ยึดถือจุดยืนที่มีต่อสังคมดังเดิม คำนึงถึง ‘ความปลอดภัยของผู้บริโภค’ เป็นหลัก โดยเน้นใช้กรรมวิธีและวัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิต ไม่ใช้สารเคมี และไม่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ เพราะหากผู้ป่วยได้รับยาไม่ครบตามปริมาณที่กำหนดอาจทำให้เกิดการดื้อยา ซึ่งจะส่งผลให้การรักษาในอนาคตจำเป็นต้องใช้ยาที่แรงขึ้น นอกจากนี้ในด้านของกระบวนการผลิต ยังมีจุดเด่นคือการควบคุมไม่ให้ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และกระบวนการผลิตหลักส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีของคนไทย เพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกด้วย”
นวัตกรรม ‘ยาแก้ไอตราตะขาบในรูปแบบสเปรย์พ่น’ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกก้าวสำคัญของผู้ประกอบการไทย ที่หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลิกโฉมผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เพื่อขยายฐานกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด BCG (Bio - Circular - Green) Economy Model ที่มุ่งเน้นการนำศาสตร์ความรู้และเทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยคำนึงถึงการไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้จุดแข็งที่เป็นมิตรต่อสังคมเหล่านี้เป็นจุดขายที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่ตลาดสากล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.