ปัจจัยหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญก้าวหน้าของประเทศก็คือ สินค้าและบริการมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีสินค้านวัตกรรมหลากหลายที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก็คือ การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure : NQI) ที่สมบูรณ์แบบ
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน หน่วยงานในระบบ NQI ของประเทศไทยกระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานในหลายกระทรวง ทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพของระบบออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นกระทรวง อว. จึงเห็นความสำคัญในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงหน่วยงานเหล่านี้มาอยู่ในระบบเดียวกัน เพื่อให้กิจกรรมของ NQI ทั้ง 5 เรื่อง ซึ่งประกอบไปด้วย การกำหนดมาตรฐาน (Standardization) การรับรองระบบงาน (Accreditation) มาตรวิทยา (Metrology) การตรวจสอบและรับรอง (Conformity Assessment) และการกำกับดูแลตลาด (Market Surveillance) ถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานสอดรับกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กระทรวง อว. เป็นผู้นำในการผลักดันให้ NQI เป็นรูปธรรมด้วยการจัดประชุมหน่วยงานในกระทรวง อว. จำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ในวันที่ 14 มกราคม 2563 และ จัดประชุมหน่วยงานในกระทรวง อว. พร้อมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมการค้าภายใน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ และกรมวิทยาศาสตร์บริการ ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคารตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นประธานในการประชุมได้ข้อสรุปว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำงานบูรณาการร่วมกัน ในการจัดทัพและเตรียมการขับเคลื่อนหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ที่เป็นรากฐานสำคัญในระบบมาตรวิทยา ห้องปฏิบัติการทดสอบ สอบเทียบ หน่วยงานวิจัย และ การพัฒนากำลังคนด้าน NQI เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับหน่วยงานในระบบ NQI ของประเทศ และสร้างความตระหนักรู้ในสังคมเกี่ยวกับ NQI โดยเริ่มนำร่องทำใน 7 สาขาสำคัญที่ตอบโจทย์ BCG และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ (1) ระบบนิเวศโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (2) อาหารสุขภาพ (3) สมุนไพรไทย (4) ยาชีววัตถุ (5) ระบบตรวจจับ (Sensor) (6) การสื่อสารและเคลื่อนย้ายในอนาคต (Future mobility) และ (7) เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green and Environmental Economy) ทั้งนี้ NQI System Integration ใน 7 สาขา ที่จะเกิดขึ้น จะเป็นกลไกสำคัญ ต่อยุทธศาสตร์ BCG Economy ที่เป็น New Growth Engine ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการแถลงผลงานเบื้องต้นภายในเดือนมีนาคม 2563 และจัดสัมมนาใหญ่ภายในเดือนพฤษภาคม 2563
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.