กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษและนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลการศึกษาวิจัยเพื่อปริญญานิพนธ์ ทุนปริญญานิพนธ์ โครงการสร้างปัญญาวิทย์ ผลิตนักเทคโน (YSTP: Young Scientist and Technologist Program) และนำเสนอรายงานความก้าวหน้าผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ ทุนระดับบัณฑิตศึกษา โครงการทุนสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย (TGIST: Thailand Graduate Institute Science and Technology) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ สร้างความเข้าใจ และรับทราบวิสัยทัศน์และพันธกิจงานพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้บริหารของ สวทช. รวมถึงได้รับการแบ่งปันประสบการณ์ทางวิชาการและประสบการณ์ชีวิตจากนักวิจัยรุ่นพี่ อีกทั้งได้นำเสนอผลการปฏิบัติงานวิจัยภายใต้ความร่วมมือระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย และนักวิจัย สวทช. รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกันระหว่างอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาทุน สร้างความมุ่งมั่นในการทำวิจัย พร้อมประสบการณ์ก่อนการไปนำเสนอผลงานในเวทีวิชาการทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า การนำเสนอผลงานวิจัยปริญญานิพนธ์ YSTP และนำเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ TGIST นี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. และสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม และพฤษภาคม เพื่อให้นักศึกษาทุนของ สวทช. ทั้งสองโครงการ ได้รายงานผลการศึกษาวิจัยที่เกิดจากโครงการความร่วมมือวิจัยระหว่างนักวิจัย สวทช. กับอาจารย์ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยแล้ว ยังเป็นเวทีฝึกซ้อมทักษะการนำเสนอผลงานให้กับนักศึกษาทุนอีกทางหนึ่งด้วย
ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีนักศึกษาทุนร่วมนำเสนอผลงานวิจัยปริญญานิพนธ์และวิทยานิพนธ์จำนวน 61 คน แบ่งเป็นนักศึกษาทุน YSTP ระดับปริญญาตรี 37 คน และนักศึกษาทุน TGIST ระดับปริญญาโท 14 คน และปริญญาเอก 10 คน ซึ่งปฏิบัติงานวิจัยกับนักวิจัยในศูนย์แห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ของ สวทช. โดยได้รับการสนับสนุนจากนักวิจัย สวทช. 2 ท่าน ได้แก่ ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และ ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย และอาจารย์ที่เป็น TGIST Alumni ร่วมเป็นประธานห้องนำเสนอของนักศึกษาแต่ละสาขางานวิจัยด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับการพัฒนากำลังคนด้าน ว และ ท” โดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. และหัวข้อ “จากนักวิจัยสู่นวัตกร และนวัตกรรมด้านสุขภาพ” โดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เพื่อเสริมความรู้ สร้างความมุ่งมั่น แรงบันดาลใจ และทัศนคติเชิงบวกในการทำวิจัยและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงแนวโน้มความต้องการกำลังคนของภาครัฐและเอกชนในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ให้กับนักศึกษาทุน ทั้งนี้ สวทช. เห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในการเสริมทักษะด้านความรู้ (Hard Skill) และทักษะเชิงสังคมหรือทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) ซึ่งเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากในอนาคต นอกจากนี้นักศึกษาทุนยังได้รับความรู้ในเรื่องของตำแหน่งงานและการฝึกงานจากฝ่ายบริการทรัพยากรบุคคลของ สวทช. อีกด้วย
สำหรับภารกิจการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช.มุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากรวิจัยคุณภาพสูงให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมา สวทช. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี 2563 นี้ มีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมถึงสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่กำลังจะมีความร่วมมือในอนาคต โดยความร่วมมือนี้จะเป็นแรงผลักดันและขับเคลื่อนการสร้างบัณฑิตคุณภาพสูงให้กับประเทศต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.