31 มกราคม 2563 : รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ภายในปี พ.ศ. 2565 กับอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษานำร่อง 6 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ณ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อาคารถนนศรีอยุธยา โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ประกอบด้วย นายจำลอง พรมสวัสดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ นางอรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ศาสตราจารย์เมธี เวชารัตนา นายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา ผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษานำร่อง และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 90 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยให้ได้รับการรับรองจาก Accreditation Board for Engineering and Technology (ABET) ของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เพื่อส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาไทยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ผลักดันให้หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ไทยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและสมรรถนะในการทำงานตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและข้อกำหนดในการประกอบวิชาชีพระดับสากล และสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้ทั่วโลกนอกจากนี้ยังเป็นช่องทางในการสร้างภาคีเครือข่ายต่างประเทศ โดยหลักสูตรที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานคุณภาพเทียบเคียงกับนานาชาติจะสามารถขยายความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการเข้าศึกษาต่อของนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำต่างประเทศที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานคุณภาพการศึกษาภายใต้ข้อตกลงในระดับนานาชาติร่วมกันทั้งในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
เพื่อเป็นการส่งเสริมการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับสมาคมนักวิชาชีพไทยในอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) และผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศ ได้แก่ การประชุมวิชาการและการจัดอบรมให้ความรู้ในเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ของ ABET การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ในเชิงลึกเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับการรับรอง การจัดให้ผู้เชี่ยวชาญเดินทางไปตรวจรายงานการศึกษาตนเอง (Self-Study Report: SSR Review) และทดลองประเมิน (Mock Visit) ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
การจัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการขับเคลื่อนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยได้รับการรับรองจาก ABET ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ
1) เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ มีแนวทางที่ชัดเจน สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมภายในปี พ.ศ. 2565
2) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษานำร่องที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีมาตรฐานคุณภาพสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของ ABET และขยายผลไปสู่สถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่นต่อไป
3) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ในระดับสากล โดยคณะอนุกรรมการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TABEE (Thailand Accreditation Body for Engineering Education) กำลังก้าวไปสู่การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ตามเกณฑ์ผลลัพธ์เพื่อเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาที่เทียบเคียงกับนานาชาติ
รองศาสตราจารย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กล่าวว่า “การพัฒนาการจัดการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาไทยให้มีมาตรฐานคุณภาพในระดับสากล จะเป็นการยกระดับทรัพยากรบุคคลด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและสร้างโอกาสในการทำความร่วมมือกับต่างประเทศและการทำงานข้ามชาติของวิศวกรไทย ภาพคุณภาพบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคตจะเปลี่ยนไป สามารถไปแข่งขันหรือยืนอยู่ในเวทีโลก อันจะเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพัฒนาและจัดการศึกษาในสาขาวิชาอื่น ๆ ของไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์สังคมและตลาดแรงงานทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สร้าง Global Citizen ที่มีคุณภาพทั้งด้านความรู้ ทักษะและสมรรถนะในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสมพร้อมสำหรับอนาคต”
ข้อมูลข่าว : กลุ่มส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอุดมศึกษาระหว่างประเทศ สำนักยุทธศาสตร์อุดมศึกษาต่างประเทศ
ภาพข่าว : อินทิรา บัวลอย
วีดีทัศน์ : เจษฏา วณิชชากร
ปราณี ชื่นอารมณ์ : เผยแพร่ข่าว
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.อว.(ภารกิจด้านการอุดมศึกษา)
ถนนศรีอยุธยา ราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
www.facebook.com/opsMHESI/
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.