สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมองเอกชนหัวกะทิ เค้นทางออกพัฒนากำลังคนตอบสนองกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต โดยมีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่จากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อาทิ ปตท. เอสซีจี ซีเกท จีเอสเค ไมโครซอฟท์ ฯลฯ พร้อมกันนี้ สอวช. ได้เสนอข้อมูล “แนวโน้มความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต” เพื่อเป็นโจทย์ในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ การท้าทายของเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาผลิตภาพการผลิต ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคเอกชนก็มีความพยายามในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยการยกระดับกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภครายบุคคลมากยิ่งขึ้น เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศ เพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้ภาครัฐริเริ่มการขับเคลื่อนมาตรการ Thailand Plus Package ที่มุ่งเน้นการเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศ ได้แก่ การกำหนดมาตรการการคลังเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการได้ 2.5 เท่า รวมทั้งให้มีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง โดยสามารถนำค่าจ้างไปหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า
“จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐที่มีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะของบุคลากรภายในประเทศเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ และนักลงทุน สอวช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการจัดทำนโยบายการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ได้ทำการสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการที่อยู่ในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งตำแหน่งงาน สมรรถนะ ทักษะ และองค์ความรู้ที่จำเป็น เพื่อวิเคราะห์ความต้องการและออกแบบกลยุทธ์สำหรับการจัดเตรียมความพร้อมของบุคลากรทักษะสูงของประเทศ และได้นำชุดข้อมูลดังกล่าวมานำเสนอในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการพิจารณาลำดับความสำคัญ (Priority setting) ของสมรรถนะและตำแหน่งงาน ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างเร่งด่วน” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ด้าน ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะชั้นสูงตามความต้องการของประเทศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะชั้นสูงของบุคลากรทั้งจากระบบการศึกษาและบุคลากรในวัยทำงาน และได้มีการดำเนินการศึกษาความต้องการกำลังคนและลักษณะการประกอบอาชีพในอนาคตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้ง กำหนดแนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบความต้องการในรูปแบบหลากหลายทั้งในรูปแบบหลักสูตรการศึกษาและหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นร่วมกับภาคเอกชน (Degree Program/Non-degree Program) รวมถึงการจัดให้มีระบบสะสมหน่วยกิต และระบบการแนะแนวจากกลุ่มอาชีพต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการมีผู้แทนจากบริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทางทีมงานของ สอวช. นำโดย ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. มองว่าทุกความคิดเห็นล้วนเป็นประโยชน์ เพราะมุมมองของภาคเอกชนจะสามารถสะท้อนถึงอุปสรรค ตลอดจนเสนอถึงทางออกเพื่อปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการนำเสนอกลไกที่ช่วยพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ เพื่อรองรับการยกระดับทักษะของบุคลากรภายในประเทศ ให้มีทักษะ ความรู้และความเชี่ยวชาญสอดคล้องต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาทักษะสำหรับบุคลากรจาก SME ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลทั่วไป อาทิ มาตรการคูปองสนับสนุนการฝึกอบรม ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักสูตรและระยะเวลาในการจัดอบรม ตลอดจนการพิจารณาเงื่อนไขของผู้เข้ารับการอบรมด้วยว่าต้องการอบรมเพื่อให้ได้ทักษะอะไร และใช้งบประมาณเท่าไรเพื่อให้สอดรับกับระยะเวลาของการฝึกอบรม อีกทั้งทักษะบางอย่างนั้นเด็กจบใหม่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อาจต้องทำ sandbox สำหรับการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการแบบเร่งด่วนจริง ๆ ที่แบบเดิมไม่สามารถทำได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.