อาคารเคเอกซ์ มจธ. - เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ปั้นนักออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 2 ต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้สมัครมีจำนวนมากกว่ารุ่นที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว โดยมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น คาดหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดทำนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ผ่านการเชิญผู้คร่ำหวอดในวงการนโยบายมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบาย อววน. ตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายนักพัฒนานโยบาย อววน. ของประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การร่วมกำหนดและผลักดันนโยบาย อววน. ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า โครงการอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งนี้ นับเป็นรุ่นที่ 2 หลังจากที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในรุ่นที่ 1 ซึ่งรุ่นที่ผ่านมาเราได้บุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จำนวน 28 ท่าน ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์นโยบายด้าน อววน. อีกทั้งมีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตร รุ่นที่ 1 ยังได้มีโอกาสนำผลงานจบหลักสูตร ไปนำเสนอ และแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายนักวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนเวที South East Asia Conference on STI Policy & Management 2019 ครั้งที่ 2 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ด้วย อย่างไรก็ตาม ในการอบรมรุ่นที่ 2 ได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด โดยมีจำนวนผู้สมัครมากกว่ารุ่นที่ผ่านมาเกือบเท่าตัว โดยมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้าน อววน. ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งตัวหลักสูตรเองยังคงเน้นวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้าน อววน. รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักพัฒนานโยบาย อววน. จึงได้มีการเชิญบุคลากรจากหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และภายนอกกระทรวง อว. ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบาย อววน. ร่วมหลักสูตรในครั้งนี้
“บุคลากรของแต่ละหน่วยงานที่ผ่านการเข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมในครั้งนี้ เรามั่นใจว่าจะเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพสูงในการออกแบบและกำหนดนโยบายการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐบาล ถือเป็นหลักสูตรที่สามารถผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้ตอบสนองความต้องการของประเทศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้อีกหลักสูตรหนึ่ง” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า จากการอบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบาย รุ่นที่ 1 เห็นได้ชัดเจนว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้พัฒนาความรู้และทักษะการออกแบบนโยบาย วทน. เป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการอบรมที่จะเกิดขึ้นในรุ่นที่ 2 ที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับความรู้ด้านการวิเคราะห์ และออกแบบนโยบายในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 27 หัวข้อ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการและผู้ที่มีประสบการณ์สูง ในการขับเคลื่อนนโยบายจริง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมจะได้รับการอบรมทั้งในส่วนความรู้พื้นฐาน กระบวนการจัดทำนโยบาย รวมถึงการศึกษาดูงานและการสัมมนานอกสถานที่ เป็นต้น
“นอกจากความรู้ในห้องเรียนที่อัดแน่นตามหลักสูตรแล้ว ในปี 2563 นี้ ยังถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย โดยสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation Policy Institute, STIPI) รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงวิชาการ 3rd South East Asian Conference on Science, Technology and Innovation Policy and Management (3rd SEAC-STIPM 2020) ภายใต้หัวข้อ “STI for SDGs” ระหว่างวันที่ 5 - 6 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารเคเอกซ์ (Knowledge Exchange) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งนับเป็นอีกโอกาสที่จะเป็นเวทีให้ผู้อบรมหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะได้แสดงศักยภาพในการนำข้อเสนอเชิงนโยบายที่ได้จัดทำในหลักสูตร มานำเสนอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเครือข่ายนักวิจัยด้วยกัน เป็นการเปิดประสบการณ์จากสิ่งที่ได้เรียนมาอย่างแท้จริง” รศ.ดร.สุวิทย์ กล่าว
ด้าน นายนรชัย รังสีวิจิตรประภา ผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานจบหลักสูตรข้อเสนอนโยบายเรื่อง การส่งเสริมนวัตกรรมในบริษัท SMEs ผ่านการทำงานร่วมกับธุรกิจบริการความรู้เข้มข้น (KIBS) และได้มีโอกาสไปนำเสนอ และแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายนักวิจัยทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนเวที South East Asia Conference on STI Policy & Management 2019 ครั้งที่ 2 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อปลายปีที่ผ่าน กล่าวว่า ผลงานดังกล่าว ได้ทำการออกแบบการแก้ปัญหาบนข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูล และสามารถนำไปใช้ได้หากในอนาคตมีเรื่องใกล้เคียงที่สอดรับกับการแก้ปัญหาตามที่ได้ออกแบบไว้ คือมีมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีตามเป็นกลไกความเชื่อมโยงที่ใช้ได้จริง ส่วนที่ไปนำเสนอที่ประเทศมาเลเซีย ก็ถือเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นสำคัญที่ได้รู้จักนักวิจัยนโยบายของแต่ละประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อให้เกิดพลัง ซึ่งดูโดยภาพรวมแล้ว ทิศทางของแต่ละประเทศก็มีความคล้ายกัน คือนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาประเทศ ซึ่งก็เชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยง ไปสู่การรวมพลังความร่วมมือกันในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.