เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์และเปิดงาน “คอนเสิร์ตเสียงแห่งสุวรรณภูมิและนิทรรศการการสร้างการรับรู้ของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องการสร้างการรับรู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับสุวรรณภูมิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชวลิต ขาวเขียว ผู้อํานวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงานความก้าวหน้าของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาและแนะนํานิทรรศการ และนางสาวฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อํานวยการสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) กล่าวรายงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. (โยธี)
นายวันนี กล่าวว่า “คอนเสิร์ตเสียงแห่งสุวรรณภูมิและนิทรรศการการสร้างการรับรู้ของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ผ่านการดำเนินงานโดย “ธัชชา” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากผลงานวิจัยของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาที่ได้ดำเนินการในช่วงปี 2564 - 2565 ทำให้เกิดการรับรู้ถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเสียงอันเป็นมรดกของสุวรรณภูมิ นำเสนอผ่านบทเพลงที่เกิดจากโครงการวิจัย “หมื่นเสียงสุวรรณภูมิ” ร่วมกับการแสดงแฟชั่นโชว์ และการบูรณาการเครื่องประดับสุวรรณภูมิ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่สังคมและประเทศชาติ รวมถึงเพื่อเติมเต็มความรู้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่เชื่อมโยงในระดับภูมิภาค สอดรับกับนโยบายของนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ในการส่งเสริมสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำศิลปะ สุนทรียะ ทางวัฒนธรรมมาสร้างมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงให้ อว. มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างคน สร้างความรู้ และสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นไปตาม MOU ที่ได้ทำร่วมกัน 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวง อว. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งพัฒนาคน ปลูกฝังจิตสำนึกรักชาติโดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย เข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งมีรากฐานจิตสำนึกรักความเป็นไทย มีคุณธรรมจริยธรรมและมีหลักคิดที่ถูกต้องต่อชาติบ้านเมืองและสถาบันสำคัญของชาติ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ถือเป็น 1 ใน 5 สถาบันของธัชชา ที่มีภารกิจในการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรการวิจัย ที่เพิ่มเติมควรส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ศิลปะวัฒนธรรม สุนทรียะ อารยะ นี้เป็นมรดกไทยที่สำคัญ สามารถพัฒนาไปเป็นผลผลิตมูลค่าสูงระดับนานาชาติ มีการแข่งขันที่สูงได้ เรียกว่าเศรษฐกิจศิลปะ สุนทรียะ อารยะ ควรจะต้องทำดนตรีสุวรรณภูมิให้เป็นเรื่องเป็นราว และให้คำนิยามว่าดนตรีสุวรรณภูมิคืออะไร เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินสุวรรณภูมิให้เป็นที่รู้จักของคนในชาติและต่างชาติ ผลผลิตทางด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์ของศิลปิน ช่างศิลป์ ตลอดจนนักดนตรีชาวไทยล้วนมีความล้ำค่า เราควรมุ่งหน้าพัฒนา ต่อยอด และสนับสนุนต่อไป เพื่อให้ผลงานของไทยเป็นที่ประจักษ์สู่อารยประเทศ
ด้าน ผศ.ชวลิต กล่าวว่า เมื่อศึกษาเรื่องราวความเป็นไปของอารยธรรมสุวรรณภูมิที่เคยเกิดขึ้น การติดต่อปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่มคนในแต่ละพื้นที่ของดินแดนสุวรรณภูมิ ทำให้เข้าใจภาพรวมทางประวัติศาสตร์ และบริบทของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นชาติพันธุ์ที่มีความใกล้เคียงกัน ทั้งทางสายเลือด ความคิด วิถีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาเชิงช่าง ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ล้วนมีรากฐานทางมรดกวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนาความเป็นรัฐแรกเริ่ม รวมไปถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยแรงศรัทธา ซึ่งสืบสานรากประเพณีมาอย่างยาวนาน “สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา” พยายามสร้างบริบทใหม่ทางการศึกษา ต่อยอด ขยายผลงานวิจัยเชิงวิชาการ สู่ทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการผสานพหุศาสตร์ หวังผลักดันคุณค่า Soft Power บนรากฐานแห่งอารยธรรมสุวรรณภูมิ ผ่านการสร้างแรงบันดาลใจ กระบวนการสื่อสารที่ทันสมัย ปรับกระบวนทัศน์ทางประวัติศาสตร์ใหม่ และส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่คงเหลือให้ถูกสืบทอด ต่อยอดงานของสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา เพื่อกระตุ้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ บนฐานแห่งคุณค่า 5 มิติ และการวิวัฒน์อย่างไม่มีวันจบสิ้น
ด้าน น.ส.ฉัตต์ธิดา กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางด้านการสร้างการรับรู้ของสถาบันฯ ให้เป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของสถาบันฯ ให้เป็นที่รู้จักสู่ภาคีเครือข่ายและสาธารณะผ่านการนำเสนอบทเพลงที่เกิดจากโครงการ “หมื่นเสียงสุวรรณภูมิ” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา การแสดงแฟชั่นโชว์เครื่องประดับสุวรรณภูมิ และการจัดแสดงนิทรรศการ ด้วยสื่อที่หลากหลาย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวีดิทัศน์ รวมทั้งศิลปะจัดวางและเสียง
ทั้งนี้ การแสดงคอนเสิร์ตเสียงแห่งสุวรรณ มีการบรรเลงบทเพลงที่เกิดจากโครงการสร้างการรับรู้ของสถาบันสุวรรณภูมิ ธัชชา จำนวน 6 เพลง รวมถึงมีการแสดงชุดใหม่ที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งบรรเลงโดยวง Seathencity และศิลปินรับเชิญ การแสดงแฟชันโชว์เครื่องประดับสุวรรณภูมิ และการแสดงชุด “รากสุวรรณภูมิ” จากนายมานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร สาขาการแสดงร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.