เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทน อว. กล่าวเปิดงานเสวนา หัวข้อ “Communicating SDG impacts” ในงาน Global Sustainable Development Congress 2024 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 100 คน ประกอบไปด้วย ผู้บริหาร ผู้แทนจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษา ทั้งจากในประเทศไทยและต่างประเทศ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้มีส่วนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย ในเวทีอภิปราย เรื่อง “การปรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างทักษะสีเขียว (Greening Higher Education for Green Skills Building)” เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีที่มีความสำคัญในการรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายรอบด้านการทำให้อุดมศึกษามีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการสร้างทักษะสีเขียวในเศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากภาคส่วนต่าง ๆ และสำหรับการเสวนาในประเด็น “Communicating SDG impacts” หรือการสื่อสารผลกระทบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่กระทรวง อว. จะได้มาร่วมหารือกับสถาบันอุดมศึกษา พันธมิตรจากภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชน ทั้งจากในและต่างประเทศ
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดย Time Higher Education (THE) หรือ THE Impact Rankings พบว่ามหาวิทยาลัยไทยมีแนวโน้มที่จะขยับอันดันขึ้นทุกปี และมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่กระทรวง อว. ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในการพัฒนาแผนและกลยุทธ์ เพื่อช่วยให้มหาวิทยาลัยเข้าร่วมการจัดอันดับฯ ของ THE ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมหาวิทยาลัยไทยเข้าร่วมการจัดอันดับจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความก้าวหน้าที่โดดเด่น ดังนั้น เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมที่ประเทศไทยจะร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Times Higher Education Global Sustainable Development Congress ที่กรุงเทพฯ ยืนยันได้จากผลการจัดอันดับในครั้งล่าสุด ที่ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งติด 100 อันดับแรกของโลก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหิดลที่ติดอันดับใน 20 อันดับแรก ตนขอชื่นชมมหาวิทยาลัยของไทยหลายแห่งที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง และหวังว่าการเสวนาในวันนี้จะเป็นโอกาสอันดีที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยได้มีการสื่อสารกับนานาชาติมากขึ้น
ทั้งนี้ ประเด็นการเสวนาดังกล่าวจะมีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกในหลากหลายประเด็น พร้อมทั้ง การรับฟังจากมหาวิทยาลัยไทยเกี่ยวกับประสบการณ์ในการดำเนินกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการดำเนินงานและการสอน รวมถึงวิธีการสื่อสารทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การแบ่งปันแนวปฏิบัติระหว่างพันธมิตรที่เข้าร่วมรับฟัง ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เช่น เครือข่ายภายใต้กระทรวง อว. กับ สถาบันอุดมศึกษากว่า 150 แห่ง เครือข่าย SUN และเครือข่าย Global Compact Network ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการสร้างความร่วมมือไทยอย่างต่อเนื่องผ่านความร่วมมือกับทางกระทรวง อว. ต่อไปในอนาคต
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.