เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่ 20 (The 20thASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation: AMMSTI-20) และเข้าเยี่ยมคารวะ สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ณ โรงแรมโซฟิเทล อังกอร์ โพคีธรา กอล์ฟ&สปา รีสอร์ท เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
ที่ประชุม AMMSTI ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนด้านนโยบายการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้กรอบอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ และเสนอแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ และนโยบายที่ไทยกำลังดำเนินการในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และร่วมพิจารณาเอกสารผลลัพธ์ที่จะเป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (ASEAN Ministerial Meeting on Science, Technology and Innovation (AMMSTI) Statement on Artificial Intelligence (AI)) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศอาเซียนในอนาคต
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า นโยบาย อว. for AI ที่ อว. กำลังดำเนินการ มียุทธศาสตร์มุ่งเป้าหมายการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ การศึกษา การพัฒนาทักษะกำลังคนเฉพาะด้าน และการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยในประเด็นด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในอาเซียน ตนเสนอให้ใช้ประโยชน์จากคณะอนุกรรมการอาเซียนว่าด้วยไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Subcommittee on Microelectronics and Information Technology: SCMIT) ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและความร่วมมือด้าน AI ในระดับภูมิภาค ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอาเซียนที่มีอยู่เพื่อให้เกิดความร่วมมือกับคู่เจรจา ได้แก่ ASEAN Talent Mobility ในการพัฒนากำลังคน และ ASEAN Regional Research Infrastructure ในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษญ์ของอาเซียน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.