เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 67 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง นางสาวลักษมณ สมานสินธุ์ ผู้อำนวยการกองต่างประเทศ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) และคณะผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ให้การต้อนรับผู้แทนจากสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน หรือ China National Space Administration (CNSA) สาธารณรัฐประชาชนจีน นำโดย นายหลี่ กั๋วพิง (Mr. Li Guoping) หัวหน้าวิศวกร องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน และหัวหน้าวิศวกรขององค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมเพื่อการป้องกันประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือการดำเนินงานความร่วมมือด้านอวกาศ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) (โยธี)
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตนและผู้บริหารของกระทรวง อว. ได้เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ และเรื่องการสำรวจและการใช้อวกาศเพื่อสันติภาพ ระหว่างกระทรวง อว. กับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน โดยมี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน และทั้งสองฝ่ายได้ประชุมหารือเรื่องความร่วมมือด้านอวกาศร่วมกัน รวมทั้งได้เชิญสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีนมาเยือนประเทศไทยด้วย
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ดีในเรื่องอวกาศระหว่างไทย-จีน ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม กระทรวง อว. มีความยินดีอย่างยิ่งและพร้อมให้การสนับสนุน หากสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีนจะพัฒนาความร่วมมือด้านอวกาศระดับภูมิภาคโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและต้นแบบความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอวกาศในกลุ่มประเทศอาเซียน นี่เป็นโอกาสของการกระชับความร่วมมือและผลักดันกิจกรรมความร่วมมือใหม่ ๆ อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายสนใจและมีประโยชน์ร่วมกันเพื่อมุ่งไปสู่การฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 50 ปี ระหว่างไทยกับจีนในปีหน้า
“ทั้งนี้ ขอขอบคุณสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีนที่ได้ให้ "ดินดวงจันทร์" มาจัดแสดงในงาน อว. แฟร์ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากคนไทยมากกว่า 600,000 คน สามารถสร้างความตระหนักในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศให้กับคนไทยได้เป็นอย่างดี โดยครั้งนี้ถือเป็นการจัดแสดงดินดวงจันทร์นอกประเทศจีนเป็นครั้งแรก และในโอกาสนี้อยากขอความอนุเคราะห์สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีนได้ให้การสนับสนุนเรื่องการยืมดินดวงจันทร์มาทำวิจัยการส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจ (payload) ของไทยไปกับยานฉางเอ๋อหมายเลข 7 และ 8 ด้วย” นายเพิ่มสุข กล่าว
นายหลี่ กั๋วพิง กล่าวว่า ไทย-จีน ได้ให้ความสำคัญในกิจการด้านอวกาศร่วมกันมาโดยตลอด ตนเชื่อมั่นว่าจากการลงนามบันทึกความร่วมมือเรื่องสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติและเรื่องการสำรวจและการใช้อวกาศเพื่อสันติภาพเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จะเป็นพื้นฐานและเป็นเข็มทิศในการร่วมมือระหว่างกันต่อไป ตนมองว่าการให้ "ดินดวงจันทร์" มาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการแสดงถึงความร่วมมืออันดีของทั้งสองประเทศ และในช่วงที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศได้ประสบความสำเร็จและมีความชัดเจนในหลายประเด็นด้วยกัน โดยในส่วนของผลงานด้านวิจัยและนวัตกรรมของทางฝ่ายไทยก็ได้รับการคัดเลือกเข้าไปเป็นอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจ (payload) ที่บรรจุไปในยานฉางเอ๋อ 7 ซึ่งจะมีการส่งอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นไปบนอวกาศด้วย ในส่วนของของงานวิจัยของทางประเทศไทยที่มีการนำเสนอให้เป็นตัวเลือกในการบรรจุเข้าไปในยานฉางเอ๋อ 8 ซึ่งทางคณะทำงานของทางฝ่ายจีนก็ได้มีการพิจารณา และคาดว่าจะได้มีการนำอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจ (payload) ของทางฝ่ายไทยนำขึ้นไปบนอวกาศด้วย
นายหลี่ กั๋วพิง กล่าวต่อว่า ในการพัฒนากิจการในด้านอวกาศระหว่างไทย-จีนนั้นมีศักยภาพสูงมาก โดยตนได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกิจการทางด้านอวกาศของทาง สทอภ. ซึ่งเห็นว่ามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและเห็นถึงขีดความสามารถในการพัฒนาสถานีภาคพื้น ความสามารถในส่วนของการวิจัยและการพัฒนาการผลิตดาวเทียม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.