เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน "ประชุมสัมมนาเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับภูมิภาคอาเซียนบวกสาม" (ASEAN+3 REGIONAL LEARNING CITIES CONFERENCE 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 ตุลาคม 2567 โดยสำนักงานภูมิภาคยูเนสโกในกรุงเทพฯ ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาคีเครือข่ายในภูมิภาคให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและเร่งให้เกิดความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของวาระการศึกษาปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SDG 4 : การศึกษาที่มีคุณภาพ และ SDG 11 : เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน โดยมี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วม ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การศึกษาในรูปแบบปัจจุบันอาจจะไม่ใช่การตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เราจะต้องทำให้ทุกพื้นที่ของเมืองคือแหล่งเรียนรู้ ทำให้เมือง เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ที่ผู้คน ทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงความรู้ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ (Lifelong Learning) ซึ่งเรื่องนี้ได้อยู่ในนโยบายปัจจุบันของรัฐบาลด้วย โดยกระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก และได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เรื่องของระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เรื่องของการทำให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์ได้ แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เพียงพอ ผมคิดว่าถ้าอยากจะให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระบบนิเวศมีความสำคัญมาก จะทำอย่างไรให้ทุกคนมีความตระหนักในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลที่คาดว่าจะได้ในการประชุมครั้งนี้ คือตัวอย่างแนวทางการปฏิบัติที่สร้างสรรค์และยั่งยืนในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในเมือง และการจัดตั้งเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือร่วมกันระหว่างเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.กิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ สังคม และเศรษฐกิจ การรู้ทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อตั้งรับ ปรับตัวให้อยู่รอดและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นที่มาของการเรียนรู้ เมื่อสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลากระบวนการเรียนรู้ก็ควรจะเกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน "การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้พลเมืองสามารถรับมือกับความผันผวนของศตวรรษที่ 21 ได้"
ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า ข้อสรุปที่ได้จากการแลกเปลี่ยนจากการประชุมจะเป็นข้อมูลที่ สกสว.นำไปใช้ในการปรับปรุงแผนวิจัย ให้มีความชัดเจน เข้มข้นทั้งในแง่ของเนื้อหาและกระบวนการ ซึ่งจะทำให้การวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการสร้าง "เมืองแห่งการเรียนรู้" ที่นอกจากจะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาของประเทศไทยเองแล้ว ยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ได้อีกทางหนึ่ง ความสำเร็จในการเชื่อมโยงแผนวิจัยกับกิจกรรมการดำเนินงานและการผลักดันให้เกิดผลตามเป้าหมายการพัฒนานั้น ถือเป็นบทบาทและภารกิจของ สกสว. ที่ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.