เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุมสัมมนาการมอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ซึ่งถูกจัดขึ้นโดยสำนักงบประมาณ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในการนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมสัมมนาฯ ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนงาน/โครงการ ประกอบการพิจารณาจัดทำคำขอรับการจัดสรร งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 คือ “การเติบโตทางประสิทธิผล” โดยจะต้องใช้งบประมาณอย่างแม่นยำและตรงเป้าหมาย คือ 1. ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง 2. ไม่เพิ่มงบดำเนินงาน เน้นเพิ่มประสิทธิผล 3. ไม่เพิ่มอัตรากำลัง เน้นการพัฒนาเพิ่มทักษะคนที่ทำงานอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้เจอกับปัญหาความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ที่เราต้องให้การรับมืออย่างรวดเร็ว รวมทั้งปัญหาด้านศักยภาพของคนไทย ที่มีอยู่แต่ไม่สามารถนำไปใช้เพื่อสร้างความเติบโต รายได้ที่มีไม่เพียงพอและเท่าทันรายจ่ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการดำเนินงานของรัฐบาลโดยด้านเศรษฐกิจมุ่งหวังการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ลดค่างวดและพักดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และ SMEs ผ่านโครงการ Sofe Loan เพื่อเพิ่มรายได้ของประเทศ ส่งเสริมการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่หมูบ้านชุมชน โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ส่งเสริม พัฒนา และสร้างช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมของอนาคต เช่น Data Center AI, EV, AgriTech, FoodTech เป็นต้น มุ่งให้ประเทศเดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต รวมถึงด้านการต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในเวทีโลก ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและมีบทบาทในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเกษตร ยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัยโดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri - Tech) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งและ Soft Power ของประเทศไทย ด้านพลังงาน โดยปรับโครงสร้างค่าพลังงานและค่าไฟฟ้าให้ถูกลง ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งสำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) ให้มีโครงข่ายที่ครอบคลุม ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เน้นสร้างความเสมอภาค สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มรายได้ พัฒนาด้านการศึกษา ผ่านโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOS) Summer Camp โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนต้นแบบ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อสร้างรายได้ (Learn to Earn) ในส่วนของด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย มุ่งเน้นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิที่ดินเพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อน ผ่านโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” (Public Housing) ในส่วนของด้านยาเสพติดและอาชญากรรม/อาชญากรรมออนไลน์ มุ่งแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมออนไลน์ด้วยวิธีการที่เด็ดขาด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้านความมั่นคงของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพกองทัพและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิผล ปรับขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัวและสอดคล้องกับภารกิจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ ด้านการบริหารรัฐกิจ แก้ไขปัญหาการผูกขาด ยกเลิกกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ หรือการดำเนินธุรกิจในประเทศ (Ease of Doing Business) ผลักดันกฎหมายที่เอื้อให้ประเทศไทย เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) มุ่งสู่การเป็น Digital Government เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยนโยบาย “Go Cloud First" สนับสนุนการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นถูกรูปแบบ รวมถึงเร่งรัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ได้มุ่งเน้นให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติด้านการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.256 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 เรื่องแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 - 2572 อย่างเคร่งครัด ดังนี้
1. ให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ
2. ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งนี้ ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้เสนอขอรับเงินงบประมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ
3. ให้หน่วยรับเงินงบประมาณที่มีเงินงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม มาใช้ดำเนินการเป็นอันดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ตามความเหมาะสม เพื่อลดภาระงบประมาณของประเทศ
4. ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ พิจารณาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจูงใจภาคเอกชนและนักลงทุนจากต่างประเทศ
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.