เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นางสาวสวามิตรี พรหมยศ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ 2 กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เป็นผู้แทนกระทรวง อว. นำคณะผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นำโดย H.E. Renato U. Solidum, Jr. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จังหวัดปทุมธานี โดยมี ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. และบุคลากร สวทช. นำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ได้แก่ ทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร ทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนและฤทธิ์ทางชีวภาพ ทีมวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโน และศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง โดยระหว่างที่เยี่ยมชมได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายการสนับสนุนความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ และการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรวิจัย รวมถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันร่างกลยุทธ์อาเซียนด้านการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างบุคลากรเฉพาะสาขาต่อไป
จากนั้นได้เดินทางไปยัง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี นายมนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง ให้การต้อนรับ พร้อมนำเยี่ยมชมภายในอาคารสำนักงานสถานีวิจัยลำตะคอง อาคารธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน และศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลงพื้นที่ศึกษาดูงานในสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ การเกษตร การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและแมลง อย่างครบถ้วน
ต่อมาได้เดินทางไปยัง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) จังหวัดนครราชสีมา โดยมี รศ. ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการ สซ. นำคณะผู้เข้าร่วมการประชุมฯ เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งชาติ ที่เปิดให้บริการแสงซินโครตรอนและเครื่องมือที่ติดตั้งแก่นักวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐ/สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาคเอกชน โดยมีงานวิจัยที่เข้ารับบริการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. งานวิจัยทั่วไป (General research) ซึ่งผู้ทำการวิจัยเปิดเผยงานวิจัย และมุ่งเปิดเผยผลงานสู่สาธารณะ 2. งานวิจัยเพื่อการค้า (Proprietary research) ซึ่งผู้ทำการวิจัยปิดงานวิจัยเป็นความลับ และมุ่งหวังผลทางธุรกิจ และ 3. งานวิจัยลับ (Classified research) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความลับทางราชการหรือความมั่นคง นอกจากนี้ ทางคณะยังได้ดูการทำงานของเครื่องจักรภายในห้องปฏิบัติการอื่น ๆ เช่น ห้องปฏิบัติการผลิตขึ้นรูปด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (CNC) ห้องปฏิบัติการงานเชื่อมสะอาด (Vacuum Welding Laboratory) ห้องปฏิบัติการจำลองสภาวะอวกาศเพื่อการทดสอบดาวเทียม (Satelite Space Environment Simulator) ห้องปฏิบัติการเชื่อมแล่นประสานโลหะในสภาวะสุญญากาศ (Vacuum Brazing Furnace) และ ห้องปฏิบัติการงานประกอบ ทดสอบ และตรวจสอบคุณภาพ (Laboratory for Assembly, Test and Quality control) ซึ่ง สซ. ได้เปิดให้บริการกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่สนใจ รวมทั้งมีแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนากำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการสนับสนุนองค์ความรู้จากเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคนิคและวิศวกรรมขั้นสูง ให้เกิดการต่ออดในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อนำมาพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.