เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นประธานแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่างกระทรวง อว. โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) ร่วมกับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) และหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งเป็นงานภายใต้โครงการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดนวัตกร วิศวกร และนักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว (Super AI Engineer Season 5) พร้อมกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Disruption)” โดยมี ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ นายกสมาคม AIAT และผู้บริหารระดับสูงทั้งจากหน่วยงานที่ดำเนินโครงการ Super AI Engineer Season 5 และหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุน เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว.
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ปัญหาการพัฒนาด้าน AI ของประเทศไทย มี 2 ปัญหาหลัก คือ การขาดแคลนบุคลากรและการประยุกต์ใช้ AI ยังมีน้อย รวมไปถึงแผนพัฒนา ทางกระทรวง อว. จึงได้กำหนดนโยบาย อว. for AI มุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. AI for Education : การใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุด 2. AI Workforce Development : การพัฒนาบุคลากรด้าน AI และการสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้คนไทยในระบบการศึกษาและตลาดแรงงาน และ 3. AI Innovation : การสนับสนุนนวัตกรรม AI สู่ตลาด การพัฒนามาตรฐานและทดสอบ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดความแพร่หลายเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย ซึ่งหากดูข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ปัจจุบันมีการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI กว่า 8 หมื่นคน แต่คน AI กว่าครึ่งไม่ได้ทำงานด้าน IT และธุรกิจยังมีความต้องการจ้างคนไปทำวิจัยพัฒนาในสัดส่วนที่สูงที่สุด ร้อยละ 35
“กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบาย “อว. for AI” เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษาที่ทันสมัย การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ และการสนับสนุนนวัตกรรมล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ AI เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่อนาคต” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว
ดร.ภาวดี กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของ บพค. ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ส่งเสริม สานพลัง ระบบ ววน. ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและงานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศไทยสู่อาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ อว. ด้าน AI Workforce Development ดังนั้น การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของประเทศแบบ demand driven ให้พร้อมรับการ disruption ของโลก จึงมีความสำคัญ ซึ่งเห็นได้จากการสนับสนุนทุนด้านพัฒนากำลังคน ด้าน AI ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการ AI for All โดยเฉพาะโครงการ Super AI Engineer ได้พัฒนาวิศวกรด้าน AI และกลุ่มผู้ใช้เครื่องมือ AI Tools (AI Beginner/Prompt Engineer) จำนวนมาก โดยจากข้อมูลสถิติของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ปีการศึกษา 2565-2566 มีบัณฑิตที่จบหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยตรง ไม่ถึง 500 คน โครงการ Super AI Engineer จึงมีส่วนในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนคนทำงานด้าน AI
ดร.เทพชัย กล่าวว่า ด้วยพันธกิจของสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ecosystem กำลังคนจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการขับเคลื่อน ดังนั้นการสร้างและพัฒนาให้คนมีความรู้ มีการพัฒนาความสามารถด้าน AI และเป็นคนที่มีมาตรฐานตามสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยสมาคมฯ เป็นสื่อกลางในการดำเนินงาน ซึ่งส่งผลให้ประเทศมีความเข้มแข็งและขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “การพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์จะช่วยประเทศไทยได้อย่างไร ?” โดย ดร.ศวิต กาสุริยะ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คุณกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Chief Innovation Officer, SCBX และคุณอำนาจ สิงหจันทร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer Season 5 เพื่อ Upskill / Reskill ให้มีทักษะที่จำเป็นในยุคปัจจุบัน โครงการในแทรค AI Innovator, AI Engineer หรือ AI Researcher สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ superai.aiat.or.th ภายในวันที่ 2 มีนาคม 2568 เพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่ level 2 ได้ ส่วนใครที่ต้องการเรียน AI พื้นฐานผ่านทางระบบออนไลน์ที่มีให้เลือกเรียน AI หลากหลายด้านได้กว่าร้อยบทเรียน เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ก็สามารถสมัครได้ที่ superai.aiat.or.th เช่นกัน โดยสามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2568 เมื่อสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วทุกคนจะสามารถเริ่มเรียนได้ทันที สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ที่ superai.aiat.or.th เฟซบุ๊กเพจ Super AI Engineer Development Program และคุณฌัชชา สุภานุภาพพงศ์ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย โทร. 09 7186 1734 หรือ อีเมล superai@aiat.or.th
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายปวีณ ควรแย้ม
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.