3 กันยายน 2563 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ และงานอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2020 (Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020) ที่สุดแห่งงานนวัตกรรมและสตาร์ทอัพของไทย บนแพลตฟอร์ม "โลกนวัตกรรมเสมือนจริง" (Virtual World) ครั้งแรกของประเทศ ภายใต้แนวคิด "Innovation in Time of Crisis: นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต" เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนิวนอร์มัล พร้อมมอบ 15 รางวัล Prime Minister Award เชิดชูกลุ่มสตาร์ทอัพและนักพัฒนานวัตกรรมสู้วิกฤต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อว. เข้าร่วมงาน ณ ชั้น 1 อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ศ.ดร.เอนก (รมว.อว.) กล่าวว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างไปทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านสาธารณสุข การดำเนินชีวิตในยุคของการเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเหตุการณ์วิกฤตที่อาจจะมาในหลากหลายรูปแบบมากขึ้นในอนาคต แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาสและสร้างบทเรียนเสมอ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เกิดการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชนในการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 เกิดมาตรการทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังที่รวดเร็วเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เกิดธุรกิจจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การพัฒนา ชุดตรวจวินิจฉัยแบบรวดเร็ว การผลิตชุด PPE การสร้างแพลตฟอร์มศูนย์กลางข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 'Thai TeleHealth fights COVID-19' การเชื่อมโยงการบริการและรักษาโรคระหว่างโรงพยาบาลต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น รวมถึงการเปิดรับบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ใหม่ๆ อาทิ สังคมไร้เงินสด การทำงานทางไกล เป็นต้น
ขณะเดียวกัน แนวทางที่ภาครัฐเร่งดำเนินการ คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยววิถีใหม่ในประเทศ ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศและสนับสนุนการใช้ "นวัตกรรมรับมือภาวะวิกฤต" เพื่อลดผลกระทบ ฟื้นฟูความเสียหายในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้ในงานประชุม งานสัมมนา งานจัดอีเว้นท์ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้บริโภค ลดการเดินทางและลดการแพร่กระจายเชื้อโรค ซึ่งการจัดงาน Startup Thailand x Innovation Thailand Expo 2020 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นั้น ถือเป็นมิติใหม่ของการจัดงานในรูปแบบโลกนวัตกรรมเสมือนจริงครั้งแรกของประเทศ ที่ได้สร้างโอกาสให้กับคนไทยทุกคนในการรับมือกับวิกฤตที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนไทย ควรมาเรียนรู้นวัตกรรมต่าง ๆ ในงานนี้ เพื่อเพิ่มทักษะ ประสบการณ์ใหม่ และเตรียมตัวให้พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันผวนเร็ว
และเมื่อวานนี้ (2 กันยายน 2563) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WPO) ได้รายงานผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก Global Innovation Index: Gll) ประจำปี 2563 ภายใต้ธีม ใครจะจ่ายเงินทำนวัตกรรม (Who Will Finance Innovation?) เพื่อบ่งชี้สถานะความสามารถด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะการเงินนวัตกรรมที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากสภาพบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 131 ประเทศทั่วโลก และน่ายินดีว่าประเทศไทยขึ้นครองอันดับ 1 ในฐานประเทศที่มีค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ และมีส่งออกสินค้าสร้างสรรค์มากที่สุดของโลก
การประกาศผลการจัดอันดับ Gll ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ เพียงเร่งเสริมมาตรการที่เป็นจุดด้อยให้ตรงจุด โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์และการวิจัย และการเชื่อมโยงต่อยอดการสร้างนวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในการสร้างการไต่ระดับพัฒนาการทางนวัตกรรมที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป
“ผมจึงอยากให้คนไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ มาเรียนรู้ที่จะพัฒนานวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อรับมือกับทุกวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งวิกฤตด้านสาธารณสุขจากโควิด-19, วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นทุกปีและวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ศ.ดร.เอนก กล่าว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.