วันที่ 16 กันยายน 2563 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. และคณะผู้บริหาร อว. ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมี ดร.พสุ โลหารชุน ประธานคณะกรรมการบริหาร วว. คณะกรรมการบริหาร และ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. และคณะผู้บริหาร วว. ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมรายงานความสำเร็จและความก้าวหน้าการดำเนินงาน ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า วว. มีผลงานวิจัยทางนวัตกรรมจำนวนมาก โดยเน้นแนวทางของ BCG โมเดล ในการทำวิจัยเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ซึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติเงินกู้ให้ วว. ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล โดยนำแนวคิดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่ พัฒนานวัตกรรมด้านกระบวนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบและของเหลือทิ้ง ด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนจากผลิตภัณฑ์แบบเดิมมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบเกษตรสมัยใหม่ด้วยฐานจากเทคโนโลยีของ วว.
“รัฐบาลต้องการสร้างองค์ความรู้ด้วยการส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ของประชาชนและอยากให้ วว. จัดทำ packages การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ณ สถานีวิจัยลำตะคองและสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม และยังถูกจัดให้เป็น 1 ใน 7 ประเทศที่ดีที่สุดของโลกในการยิงดาวเทียมและยิงจรวด เพราะมีพื้นที่บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร” รมว.อว. กล่าว
ในการนี้ รมว.อว. และคณะฯ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) และศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศด้านการทดสอบรับรองคุณภาพระบบขนส่ง ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบรางและส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่ง เช่น รถไฟขนส่งสินค้า รถไฟฟ้าในเมือง รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนระบบราง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง รวมถึงให้การฝึกอบรมและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในส่วนวิศวกรรมระบบราง เช่น วิศวกรและนักศึกษา คณาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ เป็นต้น
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3727 – 3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.