วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Emergency Operation Center, EOC) ของประเทศ พร้อมปฏิบัติงานและเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีตลอด 24 ชั่วโมง โดยยกระดับให้สามารถดำเนินการครอบคลุมเหตุฉุกเฉินในสถานประกอบการ สาธารณภัยและภัยจากการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.อว. นายสำราญ รอดเพชร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ และ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เข้าร่วมงานด้วย ณ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกามอบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกให้ประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยติดตั้งไว้ที่ ปส. ซึ่งในขณะนั้นจัดว่าเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากเมืองและชุมชนมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของไทยได้ถูกใช้งานต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 58 ปี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลาการใช้งานที่ผ่านมาไม่เคยพบปัญหาการั่วไหลของรังสีหรือสารกัมมันตรังสีภายในประเทศ ชี้ให้เห็นถึงความปลอดภัยในการป้องกันการแพร่กระจายที่ไม่พึงประสงค์ของรังสีหรือกัมมันตรังสี
“เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องนี้กำลังจะหมดอายุ ทำให้ตอนนี้เราไม่สามารถดำเนินงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนเดิม โดยให้บริการได้เพียงอาทิตย์ละ 20 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ความต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากรังสีนิวเคลียร์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และพลังงานของประเทศ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีสมรรถนะที่ได้จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู หากประเทศไทยจะก้าวหน้าต่อไปต้องเอาพลังงานจากจากนิวเคลียร์หรือฟิสิกส์นิวเคลียร์มาใช้ ดังนั้น ในฐานะของ รมว.อว. ได้เห็นถึงความสำคัญและจะสนับสนุนหน่วยงานให้ดำเนินการจัดหาเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูเครื่องที่ 2 ของประเทศต่อไป” รมว.อว. กล่าว
ปส. ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเตรียมความพร้อมและระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของไทย จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี (Emergency Operation Center, EOC) ขึ้น ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฯ นี้ เป็นศูนย์กลางในการเตรียมความพร้อม การปฏิบัติงาน และการประสานงานหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีพร้อมทั้งสามารถช่วยประเมิน ติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ และติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศได้อย่างครบวงจร เนื่องจากภายในศูนย์ปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทันสมัย ตลอดจนมีการพัฒนาบุคลากรและฝึกซ้อมการปฏิบัติหน้าที่ในการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีอยู่เสมอ หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หรือพบวัสดุต้องสงสัย เบื้องต้นให้สังเกตลักษณะภายนอกว่ามี “สัญลักษณ์ทางรังสี” ที่มีพื้นป้ายสีเหลือง วงกลมและรูปใบพัดสามแฉกสีม่วงแดงหรือสีดำหรือไม่ และห้ามแตะต้องวัสดุนั้น พร้อมกันนี้ขอให้แจ้งมายัง ปส. ที่โทรศัพท์สายด่วน 1296 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูลโดย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ภาพ : นายภูมินทร์ ปั้นเล็ก
วีดีโอ : นายสุเมธ บุญเอื้อ
ส่วนสื่อสารองค์กร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทร. 02 333 3834 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail: pr@mhesi.go.th Facebook: MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.