(29 พฤศจิกายน 2564) ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด “Club Chula Spin-off” เพื่อผลักดันงานวิจัย Research to Commercial สร้างบริษัทสปินออฟสัญชาติไทยกว่า 50 บริษัท ให้เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นหลังผ่านยุคโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมจุฬาฯ ณ สามย่านมิตรทาวน์
ปอว. กล่าวในพิธีเปิดว่า อว. ได้เร่งดำเนินการสนับสนุนและกระตุ้นให้คณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมพลักดันในทุกเรื่อง ตามความต้องการของสถาบัณการศึกษาอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในปัจจุปัน ทั้งมิติของการกลไกในการขับเคลื่อน มาตรการและการปรับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม คือการประกาศพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนของภาครัฐได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิ์ความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุน และหน่วยงานทำวิจัย เป็นการกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจ นวัตกรรม ยกระดับงานวิจัย ไปยังสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย ซึ่งกฎหมายนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ทำให้งานวิจัยของประเทศไทยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง
รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่คณาจารย์และนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผนึกกำลังกันเป็นเครือข่าย และภาคีใหม่ภายใต้ชมรม Club Chula Spin-off และสมาชิกในคลับนี้ก็ได้สร้างชื่อเสียงไว้เป็นที่ประจักษ์ในช่วงที่ประเทศกำลังต่อสู้กับ covid-19 อย่างสุดกำลัง ทั้งวัคซีนของจุฬาฯ วัคซีนใบยา หุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย สเปรย์เพิ่มประสิทธิภาพของหน้ากากผ้า เป็นต้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบของมหาวิทยาลัยไทยที่มีความโดดเด่น ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และแสดงให้เห็นว่าสามารถที่บ่มเพาะ Start-up จนเติบโตเป็น Spin-off ที่แข็งแรงได้แล้วกว่า 50 บริษัท ช่วยสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้นับพันล้านบาท
หลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการปรับตัว ความพยายามของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้สร้างกลไกต่างๆ ในการร่วมขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ และนโยบายของ อว. ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Club Chula Spin-off ที่เกิดขึ้นแล้วจะช่วยกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศใหม่ของนักวิจัยของเรา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ร่วมกันพัฒนางานวิจัยออกสู่ตลาด เป็นหนทางหนึ่งในการที่จะตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ความต้องการของประเทศ ช่วยชาติขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และตอบโจทย์ของสังคมไทย สังคมโลก ที่กำลังถูก disrupt ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
“จุฬาฯ เป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศอย่างดีเสมอมา ขอเป็นกำลังใจให้คณาจารย์ นักวิจัยของจุฬาฯทุกคน ในคลับ Club Chula Spin-off นี้ ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย นวัตกรรมที่มีมูลค่า เพื่อร่วมกันนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่แนวหน้าของโลกโดยเร็ว” ปอว. กล่าวในตอนท้าย
เขียนข่าว : วีนัส แก้วประเสริฐ
เผยแพร่ข่าว : ปราณี ชื่นอารมณ์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.