สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) จับมือ 50 องค์กร ภาครัฐ เอกชน ทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้รวบรวม โรงงานรีไซเคิล และพื้นที่นำร่อง จังหวัดชลบุรี เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ประกาศโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ของรัฐบาลที่มุ่งเป้ายกระดับเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. นำทีมภาคเอกชน พร้อมด้วยนายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายอภิสิทธิ์ วรรณตุง ท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ให้เกียรติร่วมประกาศความร่วมมือ ขับเคลื่อนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR) และได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกล่าวปาฐกถา เรื่อง EPR ในบทบาท CE และ BCG ในประเทศไทย ณ ห้องออดิทอเรียม ซีอาเซียน รัชดา ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564
โครงการนี้เป็นการศึกษาแนวทางการนำหลักการ EPR มาใช้ในบริบทของประเทศไทยเพื่อจัดการบรรจุภัณฑ์หลังจากใช้แล้วให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้ชื่อ PackBack Project…เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน และนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่จะทดลองใช้เครื่องมือ EPR ในการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วประเภทต่างๆ ทั้งแก้ว กระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม และพลาสติกโดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย และส่วนราชการจังหวัดชลบุรี ที่จะเข้ามาสนับสนุนด้านนโยบาย มาตรการ กฎระเบียบและแรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทำให้กระบวนการจัดเก็บและการรีไซเคิลเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หน่วยงานท้องถิ่นที่ช่วยจัดระบบคัดแยกจัดเก็บตั้งแต่ต้นทางโดยประสานความร่วมมือจากภาคประชาชนภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งจุดรองรับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและทำงานร่วมกับร้านรับซื้อของเก่าและศูนย์คัดแยกวัสดุใช้แล้ว (Sorting Hub) เพื่อยกระดับคุณภาพให้กับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว เพื่อนำไปรีไซเคิลในโรงงานให้ได้คุณภาพที่ดีขึ้นต่อไป และป้องกันไม่ให้บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วกลายไปเป็นขยะหรือหลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมฯ ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เราเห็นความจำเป็นที่ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้สามารถนำกลับมาเป็นทรัพยากรได้อีก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย โดยใช้หลักการขยายความรับผิดชอบ หรือ Extended Producer Responsibility (EPR) โดยต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความเหมาะสมตามบริบทของประเทศไทย และกิจกรรมแสดงเจตจำนงในวันนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงจรการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ซึ่งจะร่วมกันสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ บุคลากร องค์ความรู้ และอื่นๆ ที่จะช่วยให้เกิดระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่ต้นทาง การขนส่งและนำกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ภายใต้ชื่อ “PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์...เพื่อวันที่ยั่งยืน” ให้ประสบความสำเร็จ”
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “มีความยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์กรอิสระ ในการขับเคลื่อนการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักการ EPR ในครั้งนี้ อันจะนำไปสู่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยจะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อศึกษาแนวทางให้เกิดระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์และสนับสนุนข้อมูลเพื่อสนับสนุนงานวิจัย การศึกษา ตลอดจนการร่วมสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”
นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “BCG Economy Model เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ภาครัฐให้ความสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยเรามีความได้เปรียบด้านทรัพยากร และแรงงานราคาถูก ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าในหลายประเทศ แต่ในการผลิตมีการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป อีกทั้งในด้านเศรษฐกิจ เรายังขาดการกระจายรายได้ เพราะมีบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ จึงควรพิจารณาเรื่องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเสริมประสิทธิภาพ จากปัญหานี้ ภาครัฐ จึงต้องอาศัยการนำ BCG Economy Model เข้ามาช่วยให้เกิดการสร้างรายได้ให้ประเทศ และกระจายรายได้เข้าสู่กลุ่มคนจำนวนมาก ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนา BCG นี้ได้ เป้าหมายในการเพิ่ม GDP ภายใน 5 ปี ก็จะมีความเป็นไปได้ อีกทั้ง การเพิ่ม GDP นี้จะทำให้เกิดการเพิ่มการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชน และกลุ่มคนฐานะปานกลาง ไปจนถึงฐานะยากจนได้มากขึ้น นำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในระยะยาว
ดังนั้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ก็จะเดินหน้าช่วยสนับสนุนภาคการผลิต ภาคการเกษตรและภาคส่วนที่เป็นเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ รวมถึงความพยายามที่ภาคเอกชน ผู้ผลิต ที่ตั้งใจจะช่วยส่งเสริมการหมุนเวียนบรรจุภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy โดยอาศัยหลัก EPR ในการเป็นแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งที่ผ่านมา ทาง อว ก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำแนะนำและร่วมวางแผนในการดำเนินงาน รวมถึง มีการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาวิจัย ข้อมูลที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน อย่างโครงการศึกษา MFA VCA LCA ของ 5 บรรจุภัณฑ์ที่ได้รับทุนการวิจัยจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดข้อมูลที่สามารถสนับสนุนการลงทุนด้านการบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ และในอนาคต หากมีโครงการที่จะช่วยสนับสนุนการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลัก EPR ทาง อว.ก็มีความยินดีที่จะสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า “นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และทางกรมควบคุมมลพิษยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสนับสนุนทั้งในด้านนโยบาย องค์ความรู้ บุคลากรที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนานโยบายและกรอบแนวทาง กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถขยายผลต่อไปเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกในการจัดการขยะของประเทศไทยต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ”
นายอภิสิทธิ์ วรรณตุง ท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ขอขอบคุณทั้ง 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง ที่มาร่วมเป็นโครงการนำร่องในครั้งนี้ ผมเชื่อว่าหากแนวทางนี้ประสบผลสำเร็จก็จะสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดชลบุรีต่อไปในอนาคต และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทยในระยะยาว ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่จังหวัดชลบุรีได้รับโอกาสในการเป็นพื้นที่นำร่องในครั้งนี้”
เผยแพร่โดย : ปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพ : กรภัทร์ จิตต์จำนงค์
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2610 5241-47 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailan
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.