17 ธันวาคม 2564 ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาภาษาจีนในประเทศไทย โดยกล่าวถึงความสำคัญของการเรียนภาษาจีนที่ไม่เพียงแต่เป็นภาษาสำคัญของเอเชียและของโลก แต่ยังเป็นภาษาที่เชื่อมมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจเรียนภาษาจีนมากขึ้น ทำให้การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยพัฒนาอย่างมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อว. มีนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้แก่การเรียนการสอนภาษาจีนในมหาวิทยาลัยไทยควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมจีน โดยร่วมมือกับกระทรวงการศึกษาของจีน และศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (หรือศูนย์ CLEC) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย 47 แห่งที่เปิดสอนหลักสูตรภาษาจีน รวมแล้วกว่า 130 หลักสูตร มีการจัดตั้งสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยไทยถึง 16 แห่ง และปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เน้นย้ำว่า การเรียนการสอนภาษาจีนยังคงต้องการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของโลกยุคใหม่ซึ่งยังมีความท้าทายหลายประการที่ต้องผลักดันร่วมกัน ซึ่งผลการสัมมนาในวันนี้จะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบและแนวทางดำเนินงานเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาหลักสูตรการสอนภาษาจีนของมหาวิทยาลัยไทย
ในการนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ได้ร่วมกล่าวเปิดการสัมมนาโดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า การส่งเสริมพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการศึกษามีส่วนช่วยสร้างสังคมที่มีคุณภาพ วัดไตรมิตรวิทยาวรวิหารซึ่งตั้งอยู่ในเขตชุมชนชาวจีนจึงได้ริเริ่มดำเนินงานในหลายด้านเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย โดยเฉพาะการก่อตั้งศูนย์การศึกษาภาษาจีน ณ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ก่อตั้งมูลนิธิร่มฉัตรเพื่อเป็นกองทุนในการสนับสนุนการสอนภาษาจีน การจัดแข่งขันด้านทักษะภาษาจีนในโครงการเพชรยอดมงกุฎ การจัดตั้งห้องเรียนขงจื่อไตรมิตรวิทยาลัยโดยความร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตเทียนจิน และจัดตั้งสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ในปัจจุบัน การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมีการพัฒนาต่อยอดผ่านการดำเนินงานในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการจับคู่มหาวิทยาลัยไทย-จีนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน การจัดหลักสูตรร่วมระดับปริญญาตรี และการส่งเสริมการเรียนภาษาจีนควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์หม่า เจี้ยน เฟย ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ และ ดร.หลิว ลี่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งได้กล่าวขอบคุณฝ่ายไทยที่ให้ความร่วมมือและผลักดันให้การเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และกล่าวได้ว่าจีนให้ความสำคัญสูงสุดกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย และภายใต้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการจัดตั้งห้องเรียนขงจื่อ สำหรับความร่วมมือะในอนาคตจะมุ่งส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูผู้สอนภาษาจีน รวมทั้งการวิจัยด้านการเรียนการสอนภาษาจีนให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในงานยังมีการประกาศการลงนามคู่ความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและจีน รวมจำนวน 7 คู่ (14 แห่ง)
ในการสัมมนา เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาภาษาจีนในประเทศไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือไทย-จีน โดยศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่งเป็นเจ้าภาพฝ่ายจีน และมีผู้บริหารและคณาจารย์จากทั้งสองประเทศ เข้าร่วมสัมมนาทั้งในระบบ online และ onsite รวมจำนวน 130 คน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.