(28 มกราคม 2565) ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อข้อเสนอเชิงนโยบายในการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาให้มีคุณภาพ และมาตรฐานในระดับสากล จัดโดย สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยมี นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว. กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม THETA ชั้น 6 โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
ศ.ศุภชัย กล่าวว่า Times Higher Education (THE) เป็นผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านข้อมูลการศึกษาระดับอุดมศึกษา และได้มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติหรือ World University Ranking (WUR) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ และเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยที่จะเข้าศึกษาต่อของนักเรียนและนักศึกษาทั่วโลก และได้รับการยอมรับในระดับสากล อีกทั้งยังได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก ทาง อว. ได้ให้ความสนใจต่อตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ World University Ranking เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล การจัดอันดับ WUR ของ THE ในปี พ.ศ.2564 ครอบคลุมมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก (93 ประเทศ) โดยมีการจัดทำเกณฑ์ (Criteria) ที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านการเรียนการสอน (Teaching) (2) ด้านการวิจัย (Research) (3) ด้านการอ้างอิงในผลงานวิจัย (Citations) (4) ด้านความเป็นนานาชาติ (International outlook) และ (5) ด้านรายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry)
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถนำแนวทางการจัดอันดับ WUR มาใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนาและเป็นตัวชี้วัดสำหรับการติดตามและประเมินผลถึงความสำเร็จในการพัฒนาตามเป้าหมาย หรือการพัฒนาตามกฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2564 ได้ เช่น
- กลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าของโลกสามารถใช้ตัวชี้วัดหมวดการวิจัยมาใช้เป็นตัวชี้วัดหลักของมหาวิทยาลัยได้
- กลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมสามารถใช้ตัวชี้วัดหมวดรายได้จากภาคอุตสาหกรรมในการเป็นตัวชี้วัดหลักของมหาวิทยาลัยได้
- กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะสามารถใช้ตัวชี้วัดหมวดการเรียนการสอนในการเป็นตัวชี้วัดหลักของมหาวิทยาลัยได้
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวรายงานว่า ในปัจจุบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (University ranking) ถือเป็นพันธกิจที่ถูกให้ความสำคัญในระดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัยทั่วโลก สป.อว. ได้ดำเนินการโครงการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพเชิงลึกและการจัดอันดับของสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิจัยข้อมูลคุณภาพเชิงลึกของสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยใช้ข้อมูล Country Insights Dashboard (CID) ของ Times Higher Education (THE) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลที่มีปริมาณมาก (Big data) ขององค์กรจัดอันดับ Times Higher Education (THE)
2. เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์และวิจัยข้อมูลจากฐานข้อมูลและนำไปสู่การยกระดับมหาวิทยาลัยไทย
3. เพื่อถ่ายทอดผลการวิเคราะห์ สังเคราะห์และวิจัยสู่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย
4. เพื่อสร้างเครื่องมือ (tools) ที่สามารถยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่ world class university โดยเน้นการปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาไทย
5. เพื่อสร้างเครื่องมือ (tools) ที่สามารถยกระดับมหาวิทยาลัยไทยให้ติดอันดับใน THE university ranking โดยเน้นการรับรู้เกณฑ์และกติกา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรวบรวมข้อมูล
6. เพื่อทราบจุดอ่อน จุดแข็ง ของมหาวิทยาลัยไทยเพื่อนำไปสู่การสร้างและส่งเสริมศาสตร์ที่เป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ของไทย
ทางคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ โดยมีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมวาง Roadmap 17 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ม.ขอนแก่น, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ม.มหิดล, ม.เชียงใหม่, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.มหาสารคาม, ม.สงขลานครินทร์, ม.เทคโนโลยีสุรนารี, ม.ธรรมศาสตร์, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, ม.เกษตรศาสตร์, ม.นเรศวร, ม.บูรพา และ ม.ศิลปากร โดยทางคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการวิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลจากการทำ Focus Group / แผนการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทั้ง 17 แห่งเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่อันดับโลก / ข้อมูลจาก Country Insights Dashboard (CID) ของ Times Higher Education (THE)
สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ประกอบไปด้วย
1. บรรยายหัวข้อ "ถอดรหัสผลการศึกษาในเรื่องของการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การจัดอันดับบน Times Higher Education World University Rankings" โดย ผศ.มารุต ตั้งวัฒนาชุลีพร และ
รศ.วิทวัส แจ้งเอี่ยม
2. บทบาทของ สป.อว. ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่การจัดอันดับ โดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สป.อว.
3. การเสวนาหัวข้อ "ทำอย่างไรในการเข้าสู่การจัดอันดับ และยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่อันดับ TOP 200 600 และ 1000 บน Times Higher Education World University Rankings" โดย ศ.พีระพงศ์ ทีฆสกุล, ศ.สมชาติ โสภณรณฤทธิ์, ศ.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน และดำเนินงานโดย รศ.รัฐชาติ มงคลนาวิน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.